- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 09 July 2014 23:31
- Hits: 3151
รุกเพิ่มมูลค่าเส้นใยจากวัสดุเหลือทิ้ง
แนวหน้า : นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ด้วยเส้นใยต้นแบบและการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค ว่า โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบของการบูรณาการการทำงานระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ได้แก่ ใบสับปะรด เปลือกผลตาล เปลือกหมาก ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศ ให้กลับมาเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ทั้งนี้ ทำให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเฉพาะทางหรือสิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรป จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเปิดมุมมองแหล่งวัตถุดิบจากธรรมชาติชนิดใหม่ให้กับวงการเส้นใย เพื่อดึงดูดผู้ผลิตสิ่งทอเทคนิคทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างโอกาสและทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร และรองรับกระแสนิยมการผลิตสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในขณะนี้
สำหรับ สิ่งทอเฉพาะทางหรือสิ่งทอเทคนิค เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม และมีรูปแบบเฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งาน นอกเหนือจากสิ่งทอทั่วไป เช่น ถุงลมนิรภัย ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เสื้อเกราะกันกระสุน ไส้กรองอากาศและน้ำ เป็นต้น ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะเป็นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยตรงจากเส้นใย ที่เรียกว่า ผ้าไม่ถักไม่ทอหรือนอนวูฟเว่น (nonwovens)
โดยปัจจุบันมีการนำสิ่งทอเฉพาะทางดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในงานด้านต่างๆ เช่น ด้านสุขภาพ การขนส่ง สิ่งแวดล้อม การแพทย์ การเกษตร การก่อสร้าง การกีฬา บรรจุภัณฑ์ และเสื้อผ้าป้องกันประเภทต่างๆ ทำให้ตลาดสิ่งทอเทคนิคของโลกขยายตัว มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 127,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีปริมาณความต้องการ ใช้สูงถึง 20 ล้านตันต่อปี
นายสมชาย กล่าวว่า การดำเนินงานในขณะนี้ เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนในเรื่องพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ปรึกษาโครงการ ได้ลงสำรวจความพร้อมทั้งบุคลากรและปริมาณวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบ และติดตั้งเครื่องจักรต้นแบบในการผลิตเส้นใยธรรมชาติ โดยกำหนดที่จะผลิตเส้นใย สับปะรด ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และจ.พิษณุโลก, เส้นใยตาล จะผลิตในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และเส้นใยหมาก จะผลิตในพื้นที่ จ.อุทัยธานี