- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 08 February 2016 22:31
- Hits: 2845
นำร่องรถเมล์ 200 คัน-สมคิด เดินสายชวนเกาหลีลงทุน-ดึงทุกค่ายพัฒนาทั้งระบบอุตฯเดินหน้ารถยนต์ไฟฟ้า
กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งแผนเดินหน้า คลัสเตอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ไม่ฟังเสียงท้วงติงภาคเอกชนเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ยืนยันเป็นเป้าหมายในอนาคต 5-10 ปีต้องเกิด นำร่องด้วยรถเมล์ไฟฟ้า ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี "สมคิด" เตรียมบินไปเกาหลี ชวนเข้ามาลงทุน บีโอไอวางเดินสายโรดโชว์ เชิญทุกค่ายทั่วโลก
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ครั้งที่ 1/2559 ประจำเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สำหรับการหารือประเด็นเกี่ยวกับคลัสเตอร์ยานยนต์และ ชิ้นส่วนได้มีการรายงานให้ที่ประชุมทราบเรื่องผู้ประกอบการหลายรายให้ความเห็นแจ้งเข้ามาว่า เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles:EV หรือ อีวี) เป็นเรื่องอนาคต ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาจะพัฒนาก้าวกระโดดไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพราะยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบปัจจุบันยังมีช่องทางให้พัฒนาอีกมาก
อย่างไรก็ตาม มีบางเรื่องอาจเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ เรื่องรถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีนโยบายว่าอยากให้มีบางส่วนที่เกิดจากการผลิตในประเทศด้วย จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาหารือกัน เพื่อศึกษาว่าเอกชนไทยรายใดที่มีศักยภาพที่จะร่วมลงทุนเพื่อผลิตรถเมล์ไฟฟ้าได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการเร่งรัดฯ และคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้เตรียมแผนงานชักจูงการลงทุน โดยมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนภายในปี 2559 และต้องสามารถรองรับแผนปฏิรูปอุตสาหกรรมอนาคตในอีก 5-10 ปีข้างหน้าได้ ซึ่งเบื้องต้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าทีมนำรัฐมนตรี บริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนภาคเอกชนที่เป็นเป้าหมาย พร้อมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปพบปะและชักจูงนักลงทุนเกาหลี ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 24-27 ก.พ.นี้
นอกจากนี้ ตลอดช่วงเดือนก.พ.นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังมีกำหนดการนำ บริษัทเดินทางไปร่วมงานสัมมนา/เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ นโยบาย เพื่อชักจูงนักลงทุนต่างชาติ (โรดโชว์) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนเดือนมี.ค.2559 มีแผนเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เดือนเม.ย.มีกำหนดการโรดโชว์ที่จีน เดือนพ.ค.โรดโชว์ที่อังกฤษเดือนมิ.ย.และส.ค.โรดโชว์ที่ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และเดือนก.ย.โรดโชว์ที่ หนานหนิง และกวางสี ประเทศจีนต่อไป
"รมว.อุตสาหกรรม ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมว่า ภาคเอกชนต้องเป็นฝ่ายระบุว่าทิศทางแนวโน้มของแต่ละอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร และจะนำไปใช้ในคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่แต่งตั้งขึ้น โดยอาจให้นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เพื่อร่วมคิดและวางแผนการปฏิรูปในระยะยาวให้เกิดขึ้น"รายงานข่าวระบุ
สำหรับ การกำหนดทิศทางขับเคลื่อนคลัสเตอร์ยานยนต์ และชิ้นส่วน ที่มีนายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ประธานอนุกรรมการคลัสเตอร์ เบื้องต้นได้กำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายประเภทกิจการผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถ Hybrid, EV, PHEV โดยมี นักลงทุนเป้าหมาย อาทิ Shanghai Automotive Industry, Daimler AG, Scania AB, Fuji Heavy Industry, FAW Jie Fang, Wuling Motors, Mazda, Denso, Delphi Automotive, Hyundai Powertech, Robert Bosch จากญี่ปุ่น จีน ยุโรป เกาหลี สหรัฐ แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งมีแนวทางจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ การขยายสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบระบบ รวมถึงยกเว้นภาษีขาเข้ารถยนต์ต้นแบบ เป็นต้น
รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการเร่งรัดฯ บางส่วนมีความเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่ออนาคต จะต้องมีวิสัยทัศน์แห่งอนาคตด้วย ไม่เช่นนั้นทิศทางจะไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันเป็นควอนตัม ซึ่งไทยยังไม่มีความรู้ในเรื่องควอนตัมเลย ดังนั้นหากไม่มีการกำหนดทิศทางอนาคตที่ชัดเจน ผู้ประกอบการอาจไปร่วมทุนกับผู้ผลิตจากจีนมาลงทุนในชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีไม่สูง จนทำให้ไม่เกิดการลงทุนในเรื่องแบตเตอรี่หรือมอเตอร์ที่เป็นแกนหลักของเทคโนโลยี ซึ่งภาครัฐต้องมีส่วนในการชี้เป้าและคัดเลือกผลิตภัณฑ์ เป้าหมายในอนาคตที่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน การกำหนดรายการผลิตภัณฑ์เป้าหมายคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีการผลิต แต่ถ้ากำหนดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตอยู่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทในประเทศที่มีอยู่เดิม เช่น การผลิตยางสำหรับยานพาหนะที่เสนอมานั้นมีการผลิตอยู่แล้ว อีกทั้งการ พัฒนาคลัสเตอร์นี้ควรพิจารณาว่าจะระบุเป้าหมายไว้กี่ปี หากเป็น 10-20 ปี ควรพิจารณาเทคโนโลยีพลิกโลก อย่างเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหากผลิตแค่ชิ้นส่วน ก็ยังถือเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ไม่ต่างกับชิ้นส่วนยานยนต์ปกติ และรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัด สามารถรองรับรถเมล์และบรรทุกไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพิจารณาเพิ่มเติมแผนการส่งเสริมการลงทุนในแต่ละคลัสเตอร์เพื่อนำความคืบหน้าการทำงานและแผนงานในระยะต่อไปมารายงานที่ประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ครั้งต่อไปที่กำหนดให้มีการหารืออีกครั้งภายในเดือนก.พ.นี้
สมคิด'จ่อโรดโชว์เกาหลีใต้ บีโอไอเดินสายจีบนักธุรกิจ
ไทยโพสต์ * คณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัส เตอร์ รายงานผลประชุม กางแผนโรดโชว์ หวังดึงนักลงทุนต่างชาติ
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ครั้งที่ 1/2559 ประจำเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานว่า คณะกรรมการฯ ได้เตรียมแผนงานชักจูงการลงทุน โดยมีเป้าหมายผลักดันให้เกิดการลงทุนภายในปีนี้และต้องสามารถรองรับแผนปฏิรูปอุตสาหกรรมอนาคตในอีก 5-10 ปีข้างหน้าได้ โดยในเบื้องต้นนายสม คิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้าทีมนำรัฐมนตรี บริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนภาคเอกชนที่เป็นเป้าหมาย เดินทางไปพบปะและชักจูงนักลงทุนเกาหลี ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 24-27 ก.พ.นี้
นอกจากนี้ ในช่วงเดือน ก.พ.นี้ สำนักงานคณะกรรม การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังมีกำหนดการนำบริษัทเดินทางไปร่วมงานสัมมนา/เผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์นโยบาย เพื่อชักจูงนักลงทุนต่างชาติ (โรดโชว์) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สหรัฐ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ในส่วนเดือน มี.ค.2559 มีแผนเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน เดือน เม.ย. มีกำหนดการโรดโชว์ที่จีน เดือน พ.ค.โรดโชว์ที่อังกฤษ เดือน มิ.ย. และ เดือน ส.ค.ที่ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และเดือน ก.ย. โรดโชว์ที่หนานหนิง และกวางสี ประเทศจีนต่อไป.
บีโอไอ มั่นใจนโยบายคลัสเตอร์ดึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยแนวโน้มการลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2559 บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายมีแผนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการขยายการลงทุนของบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทย และโครงการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ โดยเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่และนโยบายส่งเสริมคลัสเตอร์ที่มุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างนวัตกรรม และเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
ในปีที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 319 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 116,885 ล้านบาท เป็นกิจการที่สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์ 173 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,367 ล้านบาท กิจการผลิตอุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรคมนาคม (Telecom ) 8 โครงการ ลงทุน 17,017 ล้านบาท และกิจการ Cloud Service 2 โครงการ ลงทุน 520 ล้านบาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตสมาร์ทโฟน โดยบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มกิจการนี้ ได้แก่ บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ผลิต Lighting Device, Lighting Device Parts ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประกอบจอแอลซีดีสำหรับจอภาพโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เงินลงทุน 3,960 ล้านบาท,
บริษัท ฟูจิคูระ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Flexible Printed Circuit Board Assembly (FPCA) หรือแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดอ่อน เพื่อใช้สำหรับอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แผ่นวงจรสำหรับควบคุมการสั่น (Vibration) การแสดงผลหน้าจอหรือการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก สำหรับ แทบเล็ต สมาร์ทโฟน สมาร์ทวอช เป็นต้น เงินลงทุน 2,972 ล้านบาท,
รวมถึงบริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตมายังต่างประเทศครั้งแรกของโซนี่ และมีโครงการผลิตเครื่องปรับอากาศของบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็กทริค คอนซูมเมอร์โพรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 10,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ บีโอไอมุ่งเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีบริษัทของคนไทยที่บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุน ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ซิลิคอน คราฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก เงินลงทุน 20 ล้านบาท แต่เป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมเอง คือการออกแบบชิพค้นหาตำแหน่งที่ฝังในตัวสัตว์เพื่อนับจำนวนและตรวจติดตามการเจริญเติบโตซึ่งลูกค้าอยู่ในประเทศยุโรป
อินโฟเควสท์