- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 01 February 2016 23:23
- Hits: 3192
สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ธ.ค.ขยายตัว 1.3%, ทั้งปี 58 โต 0.3%
สำนักงานเศรษฐกิจอุสาหกรรม(สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือน ธ.ค.58 อยู่ที่ 105.07 ขยายตัว 1.33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต เครื่องประดับ น้ำมันประกอบอาหาร
อัตราการใช้กำลังผลิตในเดือน ธ.ค.58 อยู่ที่ 62.87% ลดลงจาก 63.64% ในเดือน ธ.ค.57 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของปี 58 ขยายตัวได้ 0.3%
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ.เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในภาพรวมของเดือน ธ.ค.58 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต เครื่องประดับ น้ำมันประกอบอาหารปี 58 ขยายตัว 0.3%
ทั้งนี้ แยกเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์พลาสติก ภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในผลิตภัณฑ์ถุงพลาสติกจากการขยายตลาดใหม่และปรับลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย นอกจากนี้พลาสติกแผ่น เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งกระสอบพลาสติกที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากการผลิตน้ำตาล และผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น
ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต เนื่องจากตลาดในประเทศเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีความต้องการวัสดุก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งงานโครงการใหม่และงานบูรณะซ่อมแซมของภาครัฐ รวมถึงโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า
สำหรับอุตสาหกรรมสาขาสำคัญในเดือน ธ.ค.58
อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 152,692 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.64% ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 101,464 คัน เพิ่มขึ้น 13.36% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เกิน 100,000 คัน เป็นครั้งแรกในรอบ 24 เดือน ยอดการส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 86,650 คัน ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ มีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.96 โดยเฉพาะในส่วนของเส้นใย เนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี สำหรับการผลิตผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลง 3.37% และ 8.97% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ถดถอย ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดปริมาณการผลิตลงประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยมีปริมาณ 1.10 ล้านตัน มีอัตราลดลง 26.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.78 ล้านตัน ลดลง 16.67% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 38.81% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับการนำเข้า 896.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 26.84% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากกรณีที่อุตสาหกรรมเหล็กโลกเกิด over supply จึงทำให้ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ส่งสินค้ามายังประเทศต่างๆ ของโลก ทำให้หลายประเทศต่างกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
ด้านอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและมูลค่าการส่งออกในภาพรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.5% และ 7.7% ตามลำดับ เนื่องจากสินค้าประมงที่ปรับตัวลดลงมาก รวมถึงการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง เช่น สินค้าธัญพืชและแป้ง จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักการเติบโตทางเศรษฐกิจมีอัตราที่ลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง
อินโฟเควสท์