- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 27 January 2016 11:04
- Hits: 2519
อุตฯยาจี้ลดเวลาออกใบอนุญาต'อย.'ก่อนดันไทยสู่เมดิคัลฮับในอนาคต
แนวหน้า : นายวิริยะ จงไพศาล นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับ นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม ว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 สมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ได้มาหารือ แนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ เพื่อให้ ไทยไปถึงเป้าหมายการเป็นเมดิคัลฮับหรือศูนย์กลางทางการแพทย์ในอนาคต
โดยแนวทางระยะสั้นนั้น เห็นว่าควรจะปรับปรุงกฎเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตำหรับยาใหม่ๆ ให้สามารถขออนุญาตเรื่องต่างๆ และการส่งออกให้ง่ายขึ้น โดย ในปัจจุบันต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งควรจะลดลงเหลือ ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง เท่ากับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ สาเหตุหลัก ของความล่าช้าเกิดจากการขาดแคลนบุคลากรขององค์การ อาหารและยา (อย.) ดังนั้น แนวทางการแก้ไข ควรจะประสานงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านบุคลากร เช่น โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ เภสัชกร และผู้ที่มีความรู้ ในเรื่องยา ให้เข้ามาช่วยพิจารณาเอกสารที่มีเป็นจำนวนมาก ก็จะช่วยย่นระยะเวลาในการอนุญาตลงได้มาก
"การบูรณาการในรูปแบบดังกล่าว จะทำให้เกิดการ ต่อยอดความรู้ และเกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยาใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมาก โดยอาศัยจุดเด่นของไทยที่มีความหลากหลาย ทางชีวภาพ สามารถสกัดสารออกฤทธิ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมยาและเวชกรรมของไทย เพื่อให้เกิดการจดสิทธิบัตรยาใหม่ๆ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ" นายวิริยะ กล่าว
นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการออกไปดึงดูดการลงทุนจากบริษัทผลิตยาชั้นนำ ให้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะการผลิตชีววัตถุ วัคซีน ยา และการสร้างงานวิจัยในไทย และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ภายในประเทศขยายการลงทุนในสินค้าที่มีนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการภายในประเทศหลายราย ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีมูลค่าในอุตสาหกรรมยากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเติบโตน้อยมากเพียง 1% และยาที่ใช้ภายในประเทศส่วนใหญ่ 60-70% เป็นการนำเข้า และมีการส่งออกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น การจะยกระดับอุตสาหกรรมยาของไทย ไปเป็นผู้ส่งออก จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี หากไทยพัฒนาไปถึงจุดนี้ได้ ก็จะเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับประเทศอีกมหาศาล
นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแก้ไขอุปสรรคด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ และจะให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ในการบูรณาการกับภาครัฐ โดยให้สมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เพื่อเข้าร่วมประชุมและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
"คณะอนุกรรมการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จะมีการประชุมกันในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ เราก็จะเชิญตัวแทนจากเอกชนเข้ามาร่วมหารือเพื่อเน้นไปที่ปัญหาโดยตรง ซึ่งวันนี้เรายังไม่มีการหารือว่าจะดึงใครมาลงทุนเพิ่ม เพียงแต่ต้องแก้ไขอุปสรรคเบื้องต้นที่เอกชนขอมาให้ได้ก่อน"นางอรรชกา กล่าว