- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 27 January 2016 11:01
- Hits: 2441
โรงงานยาสูบ แถลงผลงานปี 58 มีกำไรกว่า 7 พันลบ. นำเงินส่งรัฐทั้งสิ้น 5.19 หมื่นลบ.
โรงงานยาสูบ แถลงผลงานปี 58 มีกำไรกว่า 7 พันลบ. ชี้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นเงินกว่า 1,563.15 ลบ. พร้อมนำเงินส่งรัฐทั้งสิ้น 5.19 หมื่นลบ.
นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ เปิดเผยผลการดำเนินงานของโรงงานยาสูบ ในรอบปีที่ผ่านมาในโอกาสการจัดงานพิธีลงนามสัญญาซื้อขายและติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตบุหรี่ สำหรับโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2559 ณ ห้องกรองทิพย์ สโมสรพนักงานยาสูบ สำนักงานใหญ่คลองเตย กรุงเทพฯ
ผู้อำนวยการยาสูบ เปิดเผยผลประกอบการในปี 2558 มีกำไรกว่า 7,098 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้ว่าในปี 2558 จะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แต่โรงงานยาสูบยังมีสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ลดลง เนื่องด้วยมีการควบคุมการดำเนินงานและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบในการผลิตบุหรี่จากการจัดหาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และการจ้างพิมพ์ซองบุหรี่ ซึ่งเปลี่ยนวิธีจัดจ้างจากเดิมวิธีพิเศษ (ผู้ค้ายื่นซองใบเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียว) เปลี่ยนเป็นใช้วิธี e-Auction (ผู้ค้าสามารถเสนอราคาได้หลายครั้ง โดยราคาที่เสนอจะต้องต่ำกว่าราคาสูงสุดในการประกวดราคาฯ) ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา โดยในปี 2558 สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นเงินกว่า 1,563.15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.57
นอกจากนั้น ยังมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โรงงานยาสูบสามารถประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2558 โรงงานยาสูบนำเงินส่งรัฐทั้งสิ้น 51,941.91 ล้านบาท ในรูปของกำไรสุทธิและภาษีต่างๆ (ค่าแสตมป์ยาสูบ ภาษีเงินได้จ่ายแทนผู้ประกอบการค้ายาสูบ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงฯ เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นต้น)
นางสาวดาวน้อยฯ กล่าวต่อว่า สำหรับผลงานในปี 2558 และแนวทางการดำเนินงานในปี 2559 โรงงานยาสูบจะดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่างๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ได้แก่
สำหรับ จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตบุหรี่ โรงงานผลิตยาสูบ 6 นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2558 ให้ปรับแผนดำเนินงานโครงการฯ เปลี่ยนแปลงการจัดหาเครื่องจักรผลิตบุหรี่ จาก'การจัดหาแบบรวมสัญญา' เป็น'การจัดหาแบบแยกสัญญา'เป็นการแยกจัดหาตามกลุ่มของผู้ผลิต ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น และได้ปรับลดวงเงินในส่วนจัดหาเครื่องจักรใหม่ทั้งโครงการ วงเงิน 7,149.70 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงินทั้งสิ้น 7,649 ล้านบาท) ซึ่งโรงงานยาสูบในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ได้สนองนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับความโปร่งใส และนับเป็นหน่วยงานแรก ที่ประสบความสำเร็จในการนำร่องดำเนินโครงการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในการจัดซื้อ เครื่องจักรของโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ทำให้เกิดความโปร่งใส โดยตลอดการดำเนินการจะมีผู้สังเกตการณ์ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) เข้าร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 – 2559
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
รง.ยาสูบ ปรับรูปแบบซื้อเครื่องจักร-อุปกรณ์โรงงานใหม่เป็นแบบแยกสัญญา
น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการยาสูบ เปิดเผยถึงแผนการย้ายฐานการผลิตของโรงงานยาสูบจากพื้นที่คลองเตยไปที่โรงงานผลิตยาสูบ 6 สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตบุหรี่ของโรงงานแห่งใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย.58 ให้ปรับแผนด้วยการเปลี่ยนแปลงการจัดหาเครื่องจักรฯ จาก “การจัดหาแบบรวมสัญญา" เป็น “การจัดหาแบบแยกสัญญา" เป็นการแยกจัดหาตามกลุ่มของผู้ผลิต ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น และได้ปรับลดวงเงินในส่วนจัดหาเครื่องจักรใหม่ทั้งโครงการ วงเงิน 7,149.70 ล้านบาท โดยหากรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นเงินทั้งสิ้น 7,649 ล้านบาท
ทั้งนี้ โรงงานยาสูบในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ได้สนองนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับความโปร่งใส และนับเป็นหน่วยงานแรก ที่ประสบความสำเร็จในการนำร่องดำเนินโครงการนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ทำให้เกิดความโปร่งใส โดยตลอดการดำเนินการจะมีผู้สังเกตการณ์ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) เข้าร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง โดยโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 58-59
สำหรับ วงเงินตามมติ ครม.8,094.60 ล้านบาท ได้รับการปรับวงเงินใหม่เหลือ 7,149.70 ล้านบาท เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ 944.90 ล้านบาท คิดเป็น 11.67% ส่วนการย้ายพนักงาน การย้ายเครื่องจักรเก่าและการจัดหาเครื่องจักรใหม่นั้นจะสอดคล้องกับแผนการส่งมอบพื้นที่ โดยไม่ส่งผลกระทบกับพนักงานและการดำเนินงานของโรงงานยาสูบ ซึ่งจะย้ายไปทีละส่วนงาน โดยคงไว้ในส่วนของตึกอำนวยการ โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ และอาคารฝ่ายวิจัยเท่านั้น
ส่วนพื้นที่โรงงานยาสูบคลองเตย ซึ่งเดิมมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 640 ไร่ และเมื่อปี 2547 ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพื้นที่กว่า 140 ไร่ สร้างสวนสาธารณะเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ ได้รับพระราชทานชื่อว่า “สวนเบญจกิติ" และสำหรับการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือจะทำให้มีขนาดพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติมอีกกว่า 320 ไร่ มีแผนดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 เฟส เริ่มดำเนินการในปี 2559 และจะแล้วเสร็จในปี 2562 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ โดยดำเนินการภายใต้แนวคิดการสร้างเป็นสวนป่าแห่งแรกใจกลางกรุงเทพมหานคร
น.ส.ดาวน้อย กล่าวถึงผลประกอบการในปี 58 มีกำไรกว่า 7,098 ล้านบาทสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แต่โรงงานยาสูบยังมีสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ลดลง เนื่องด้วยมีการควบคุมการดำเนินงานและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบในการผลิตบุหรี่จากการจัดหาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และการจ้างพิมพ์ซองบุหรี่ ซึ่งเปลี่ยนวิธีจัดจ้างจากเดิมวิธีพิเศษ (ผู้ค้ายื่นซองใบเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียว) เปลี่ยนเป็นใช้วิธี e-Auction (ผู้ค้าสามารถเสนอราคาได้หลายครั้ง โดยราคาที่เสนอจะต้องต่ำกว่าราคาสูงสุดในการประกวดราคาฯ) ทำให้เกิดการแข่งขันทางด้านราคา
ในปี 58 สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ เป็นเงินกว่า 1,563.15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.57 นอกจากนั้นยังมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้โรงงานยาสูบสามารถประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 58 โรงงานยาสูบนำเงินส่งรัฐทั้งสิ้น 51,941.91 ล้านบาท ในรูปของกำไรสุทธิและภาษีต่างๆ (ค่าแสตมป์ยาสูบ ภาษีเงินได้จ่ายแทนผู้ประกอบการค้ายาสูบ เงินบำรุงองค์การกระจายเสียงฯ เงินบำรุงกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นต้น)
อินโฟเควสท์