- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 03 January 2016 20:15
- Hits: 6804
ชู 5 อุตสาหกรรมดาวเด่นปี 59 ยิ้มรับปีหน้าปรับตัวดีขึ้นเท่าตัว
บ้านเมือง : กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ผลงานรอบ 1 ปีให้คะแนน 9 เต็ม 10 วางเป้าหมายปี 2559 ระบุมีส่วนสำคัญกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนเมื่อรวมกับตัวเลขบีโอไอหวังจะแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทแน่นอน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้าน พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก-เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน-อำนวยความสะดวกทางธุรกิจ
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย ถึงผลงานรอบ 1 ปี ว่า กระทรวงฯ ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลใน 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 2.การเพิ่มขีด ความสามารถการแข่งขัน 3.การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ และ 4.การบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยในช่วงแรกได้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้มี ความรวดเร็วขึ้นโดยเฉพาะการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) และให้หน่วยงานในสังกัดติดตามอำนวยความสะดวกเพื่อเร่งรัดให้แจ้ง เริ่มประกอบกิจการโรงงาน ตลอดจนมีแผนการตรวจกำกับโรงงานต่างๆ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน การนำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบ และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามแผนการจัดการกากอุตสาหกรรม (พ.ศ.2558-2562) การแก้ปัญหาผังเมืองที่กระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม การปรับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับอาเซียนรองรับการเปิดเออีซี และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก ในการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยมี 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร) ซึ่งเชื่อว่าจะมีการลงทุนใหม่ในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับมีการจัดระบบการทำงานรูปแบบใหม่ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ให้กระชับมากขึ้น
โดยกระทรวงฯ ก็ยังเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามช่วงการพัฒนาของธุรกิจ ตั้งแต่การสร้าง ผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาผู้ประกอบการ เดิม และการฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ โดยในปี 2559 ก็ยังจะขับเคลื่อนงานดังกล่าวให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น จะเร่งปรับปรุงงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และจะผลักดันการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ การขับเคลื่อนแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยในเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม ประสิทธิภาพแรงงาน และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมสนับสนุน เพื่อเร่งสร้างความสามารถทางการแข่งขันและหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางต่อไป
สำหรับ ภาวะอุตสาหกรรมปี 2558 และแนวโน้มปี 2559 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่า ".GDP อุตสาหกรรมในปี 2558 จะเติบโตอยู่ที่ 0.5% และ GDP อุตสาหกรรมทั้งปี 2559 เติบโตอยู่ที่ 2.0% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าในปี 2558 โดยมีช่วงการคาดการณ์ที่ 1.5% ถึง 2.5%
สำหรับ อุตสาหกรรมดาวเด่นที่คาดว่าปรับตัวดีขึ้น ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.17 อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2559 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น IC ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2559 คาดว่าการผลิตในภาพรวมขยายตัว เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารเติบโตขึ้น
อุตสาหกรรมเซรามิก ในปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโตตามไปด้วย" นางอรรชกา กล่าว
อีกหนึ่ง อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเม็ดเศรษฐกิจในต่างจังหวัด คืออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งจะเป็นผลจากการปรับโครงสร้างและยุทธศาสตร์ โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า พื้นที่ปลูกอ้อยจะเพิ่มขึ้นจาก 10.53 ล้านไร่ เป็น 16 ล้านไร่ จะเพิ่มผลผลิตอ้อย จาก 105.96 ล้านตัน เป็น 180 ล้านตัน น้ำตาลทราย จาก 11.34 ล้านตัน เป็น 20.36 ล้านตัน เอทานอล จาก 2.5 ล้านลิตร/วัน เป็น 5.38 ล้านลิตร/วัน สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ สร้างรายได้เพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจจาก 200,000 ล้านบาท เป็น 450,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จะทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รวมทั้งจะเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องใหม่ๆ เช่น พลาสติกชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี ซึ่งจะมีการดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ปรับปรุงกฎหมาย (2) พัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพอ้อยและน้ำตาลทราย (3) การกำหนดต้นทุนมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย (4) การรักษาเสถียรภาพกองทุน และ (5) การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น