- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Thursday, 31 December 2015 09:45
- Hits: 2341
สศอ.เชื่อปี 59 ปัจจัยหนุนอุตฯ โต
บ้านเมือง : นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยถึงภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 58 ว่า ช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ขยายตัว 2.9% จากการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งการส่งออกยังหดตัว ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 ขยายตัว 0.9% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภค ในประเทศ สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือน พ.ย.58 ขยายตัว 0.1% อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การกลั่นน้ำมัน และเครื่องปรับอากาศ โดยทั้งปี 58 ข้อมูลรวม 11 เดือน MPI ขยายตัวอยู่ที่ 0.23%
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์จำนวน 165,170 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.25% จำหน่ายรถยนต์ในประเทศจำนวน 76,246 คัน เพิ่มขึ้น 4.6% โดยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 31 เดือน และการส่งออกรถยนต์มีจำนวน 101,650 คัน ลดลง 4.64% อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวการณ์ผลิตภาพรวม พ.ย.58 ปรับตัวลดลง 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมอาหาร ในเดือน พ.ย. การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลง 7.1%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2559 จะมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาครัฐ การทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 59 จะขยายตัว 3.6% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.1% รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในปี 2559 เริ่มจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2559 จะขยายตัว 6.3% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัว 6.8% รวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ หลังธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ Fed ทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2558 และมีสัญญาทยอยปรับอัตราขึ้นอย่างช้าๆ ในอนาคต
สำหรับ คาดการณ์อุตสาหกรรมเด่นในปี 59 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์จะมียอดรวมการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน เพิ่มขึ้น 10.26% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.67 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,250,000 คัน เพิ่มขึ้น 4.17% ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปี 59 ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.55%
สศอ.มึนดัชนีผลผลิตหลุดเป้าฟุ้งอุตฯยานยนต์'ดาวเด่น59'
ไทยโพสต์ * สศอ.มึนดัชนี MPI พลาดเป้า ทั้งปีติดลบ 0.5 ถึงบวก 0.5% อ้างปัจจัยหลักจากประมาณการใหม่ คาดปี 2559 ขยายตัว 2-3% หลังได้อานิสงส์มาตรการรัฐ เผยอุตสาหกรรมยานยนต์ดาวเด่นปีหน้า
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2558 อยู่ที่ 0.9% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม และการผลิตพลาสติก และทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ 0.5% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่จีดีพีกลับมาเป็นบวก
ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย.58 นี้ขยายตัวได้ 0.1% จากเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปรับฐานอุตสาหกรรมที่นำมาคำนวณดัชนีใหม่ ทำให้การคำ นวณมีความแม่นยำมากขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัว คือ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การ กลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ตาม MPI ทั้งปี 2558 จะติดลบ 0.5 ถึง 0.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัว 3-4%
สำหรับ ในปี 2559 คาดว่าการขยายตัวของ MPI ในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 2-3% ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเริ่มเห็นผลชัดเจน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยให้กำลังซื้อภายในประเทศฟื้นตัวขึ้น และหากสถานการณ์ภัยแล้ง ไม่วิกฤติเช่นปีนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกที่เสริมให้การลงทุนในอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ผลกระทบจากภัยแล้ง และเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ หลังธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประการขึ้นดอกเบี้ย
"ในปีหน้าคาดว่าอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่นคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะมียอดการผลิต อยู่ที่ 2.15 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 10.26% โดยเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1.25 ล้านคัน และจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน นอกจากนี้จะมีอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัว เพิ่มขึ้น 0.81%, อุตสาหกรรมอาหารและและอุตสาหกรรมเซรามิก โดยจะได้รับผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ"นายวีรศักดิ์กล่าว.