- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 05 December 2015 10:15
- Hits: 2456
เอกชนแห่จองตั้งนิคมคลัสเตอร์กนอ.เร่งเคลียร์พื้นที่สนองนโยบายรัฐ ค่ายรถยนต์ขอตั้งโรงงาน/ผลิตชิ้นส่วน
กนอ.เตรียมพื้นที่รองรับ 6 คลัสเตอร์ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เผยเอกชนขอตั้งนิคมใหม่ 9 แห่ง พื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ รับกลุ่มยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี พร้อมทยอยเปิดดำเนินการปี 59-60 ค่ายรถยนต์ขอตั้งโรงประกอบ ผลิตชิ้นส่วน เชื่อผลักดันคลัสเตอร์ยานยนต์ไทยแข็งแกร่ง ด้านอุตฯเป้าหมายใหม่อากาศยานแนวโน้มเกิดเร็วสุด ตั้งนิคมฯดิจิตอลเชียงใหม่ และภูเก็ต
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559 ว่า กนอ.ได้เร่งจัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้ง 6 คลัสเตอร์ และ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยล่าสุดมีผู้ประกอบการเอกชนได้ขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ 9 แห่ง พื้นที่รวมกว่า 2 หมื่นไร่ คาดว่าจะทยอยก่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2559-2560 รองรับอุตสาหกรรมในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมีขั้นปลาย ซึ่งจะเข้ามารองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล
"ที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลได้ออกนโยบายส่งเสริมการลงทุนในคลัสเตอร์เป้าหมายต่างๆ พบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายมาติดต่อขอเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม อาทิ โรงงานประกอบรถยนต์ และผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย โดยเชื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้คลัสเตอร์ยานยนต์ไทยแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น" นายวีรพงศ์กล่าว
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของรัฐบาล ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหารชั้นสูง พบว่า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด หลังจากที่รัฐบาลได้ตัดสินใจเลือกพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เนื่องจากเป็นฐานของการซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่แล้ว ยังสามารถเชื่อมฐานการผลิตกับพื้นที่ท่าเรือมาบตาพุดได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือขอใช้พื้นที่กับกองทัพเรือ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมดิจิตอลนั้นได้กำหนดไว้ 2 พื้นที่ ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต ใช้พื้นที่ไม่มาก จัดสร้างเป็นนิคมแนวดิ่ง หรือเป็นคอนโดมิเนียมของอุตสาหกรรม เนื่องจากในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมบริการใช้พื้นที่น้อย จึงสามารถสร้างเป็นอาคารสูงได้
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าของการตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริการจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจร นอกจากบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด(มหาชน) ที่ได้ลงนามความร่วมมือเบื้องต้น (เอ็มโอยู) กับ กนอ.เพื่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมนี้ ล่าสุดกลุ่มบริษัท เอสซีจี แสดงความสนใจตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริการจัดการกากอุตสาหกรรมเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ด้านความคืบหน้าของการตั้งโรงงานเผาขยะอุตสาหกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนเตาเผาขยะจากประเทศญี่ปุ่น ขณะนี้มีพื้นที่เข้าข่ายในการเข้าไปตั้งเตาเผาขยะนี้ 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่ต้องรอผลการสรุปของคณะทำงานศึกษาก่อน
มติชนออนไลน์ : วันที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2558