- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 28 November 2015 23:28
- Hits: 2720
สศอ.คาดผลผลิตอุตสาหกรรมปี 58 อยู่ที่ -0.5 ถึง 0.5% ส่วนปี 59 คาดโต 2-3%
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 58 มีอัตราการขยายตัวที่ -0.5% ถึง 0.5% และจะมีอัตราการขยายตัว 2-3% ในปี 59 ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 58 คาดว่าจะอยู่ที่ 0-1% ส่วนปี 59 อยู่ที่ 1.5-2.5%
ด้านการปรับปรุงฐานการดัชนีอุตสาหกรรมว่า ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และได้ข้อสรุปเห็นชอบให้มีการปรับปรุงน้ำหนักและปีฐานโดยอิงข้อมูลสำมะโน อุตสาหกรรม ปี 2555 ของ สสช. เพราะถือว่าเป็นข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มี โดยคณะทำงานเพื่อทำการปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมประกอบด้วย ธปท. และ สศอ. ได้มีการปรับอุตสาหกรรมจากเดิม 53 อุตสาหกรรม 216 ผลิตภัณฑ์ เป็น 56 อุตสาหกรรม 227 ผลิตภัณฑ์
"เรายังเชื่อว่า 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ดัชนี MPI น่าจะดีขึ้น MPI ทั้งปีก็อาจจะไม่ติดลบ อาจจะอยู่ที่ 0.0% จากปัจจัยการส่งออกรถยนต์ที่ยังเติบโตดี การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนกส์และเครื่องไฟฟ้าที่น่าจะดีขึ้นส่วนปี 59 ที่ประเมินไว้ว่า MPI น่าจะอยู่ที่ 2-3% ประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั่วไป แต่ยังไม่ได้รวมปัจจัยเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เร่งรัดการ ลงทุนของภาคเอกชนด้วย PPP เนื่องจากต้องรอการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างและเม็ดเงินเข้าสู่ระบบก่อน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้เริ่มเห็นความชัดเจนในปีหน้า" นายศิริรุจน์ กล่าว
สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมต.ค.58 ติดลบ 4.2%จากช่วงเดียวกันปีก่อน
สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.58 หดตัว -4.2% อยู่ที่ 106.85 จาก 108.19 ในเดือน ก.ย.57 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่อัตราการใช้กำลังผลิต ต.ค.58 อยู่ที่ 59.91% จาก 62.92% ในเดือน.ต.ค.57
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนต.ค.58 หดตัว 4.2% อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยภาพการผลิตของประเทศในเอเชียในช่วงปี 2557 และ 2558 ที่ผ่านมายังมีทิศทางเปราะบางโดยประเทศที่ยังขยายตัวได้อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวในระดับต่ำ ขณะที่ในบางประเทศเช่น เกาหลีใต้ และ ไต้หวัน มี MPI ติดลบในบางช่วงเวลา สอดคล้องกับภาคการผลิตของไทย
สำหรับ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์ มีจำนวน 165,381 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.52 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 67,908 คัน ลดลง 4.15% การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 111,229 คัน เพิ่มขึ้น 19.07% โดยการส่งออกรถยนต์นั่งมี จำนวน 37,216 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.89% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบแอฟริกา ยุโรป และเอเชีย ส่วน การส่งออกรถกระบะ 1 ตัน มีจำนวน 66,737 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.16% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย รวมทั้งอเมริกากลางและใต้
ในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง 10.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ปรับตัวลดลง 13.41% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD, Other IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลง 21.33% 15.34% และ 7.01% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลง 5.62% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์ กระติกน้ำร้อน และเตาอบไมโครเวฟ ปรับตัวลดลง 85.68% 36.02% และ 23.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอา เซียน
สำหรับ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยตุลาคม ปี 2558 มีปริมาณ 1.44 ล้านตัน ลดลง 12.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.46 ล้านตัน ลดลง 11.54% การส่งออกมีมูลค่า 49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 19.08% การนำเข้า 570 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลง 28.55% เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ จึงทำให้กำลังซื้อลดลง
ในส่วนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีทิศทางการผลิตที่ชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีสถานการณ์ที่ชะลอตัวลง โดยโครงการก่อสร้างของภาคเอกชน เช่น คอนโดมิเนียมประสบปัญหาล้นตลาดแต่ในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็กก่อสร้างนั้น ถึงแม้การผลิตจะขยายตัว แต่เหล็กที่ใช้ในการผลิตเป็นเหล็กที่นำเข้าไม่ใช่เหล็กที่ผลิตในประเทศ
ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น การผลิตเส้นใยสิ่งทอและ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.69% และ 0.56% ตามลำดับ เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี สำหรับการผลิตผ้าผืน จะชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการผลิตลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน
สำหรับ การส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ 14.93% จากความต้องการในตลาดคู่ค้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถาน ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง 6.17% ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม และ สปป.ลาว สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 4.64% จากคำสั่งซื้อในตลาดหลักลดลง ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.1% เนื่องจากสินค้าประมงที่ปรับตัวลดลงมาก จากการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีทิศทางลดลง เช่น สินค้าผลิตภัณฑ์นม สินค้ากลุ่มธัญพืชและแป้ง อาหารสัตว์ และน้ำตาล อย่างไรก็ตามสินค้ากลุ่ม ปศุสัตว์ คือ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.0% เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้วยราคาที่ลดลง และจากคำสั่งซื้อไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูปของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโต ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อน 9.5% จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP ของสหภาพยุโรป และปัญหาภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ซบเซาขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น รวมถึงการเติบโตในอัตราที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจาก อำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย