- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 23 November 2015 22:31
- Hits: 2483
BWG เซ็นกนอ.ศึกษาตั้งนิคมฯพลังงานทดแทนจากขยะ,ตั้งเป้ารายได้ปี 59โต 20%
บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) ลงนามในบันทึกความเข้าใจการร่วมดำเนินงานโครงการ “ศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว" กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เบื้องต้นเริ่มศึกษาความเป็นไปได้พร้อมกันในภาคกลางและปริมณฑล ภาคตะวันออกที่เป็นโซนอุตสาหกรรม ภาคตะวันตกที่เป็นพื้นที่เชื่อมเขตอุตสาหกรรมกับเพื่อนบ้านเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยโครงการมีเวลาศึกษา 1 ปี
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า กนอ. ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุไม่ใช้แล้วที่ได้มาตรฐานสากล เพราะนอกจากจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดตามกฎระเบียบของ กนอ. แล้ว ยังสามารถนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมที่ไม่มีมูลค่า มาพัฒนาเป็นพลังงานทางเลือก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรของประเทศได้อีกด้วย ซึ่งหากจัดตั้งได้สำเร็จจะสามารถพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนในอนาคต ตามนโยบายที่รัฐบาลได้วางไว้ ซึ่ง กนอ. พร้อมให้การสนับสนุนให้โครงการนี้ดำเนินไปได้อย่างสะดวกภายใต้กฎเกณฑ์ที่ถูกต้อง ทั้งทีมสำรวจพื้นที่ และการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
“กนอ. มอบหมายให้เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน เป็นผู้รวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการ เข้ามาศึกษาถึงความเป็นไปได้ร่วมกัน และเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการศึกษาการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเกิดประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจนี้อย่างครบวงจร"นายวีรพงศ์ กล่าว
นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ BWG กล่าวว่า โครงการศึกษาและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเกิดขึ้นเพื่อต้องการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันเข้าไปอยู่รวมกันอย่างมีระบบ เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล และสามารถพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของโรงงานอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว โดยผ่านการคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม
“โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการสานต่อนโยบายของ กนอ.ที่ต้องการให้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสากล เข้ามารองรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ ประกอบกับรัฐบาลให้การสนับสนุนการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการนำกลับมาใช้ใหม่และการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี และมองว่าเป็นประโยชน์หากธุรกิจประเภทเดียวกันมาอยู่ด้วยกันภายใต้ระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย และข้อบังคับ ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดจาก กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นประโยชน์ทั้งสำหรับผู้ประกอบการที่จะมีที่ตั้งโรงงานที่มีระบบสาธารณูปโภคครบครัน เป็นประโยชน์ต่อทางภาครัฐที่สามารถควบคุมและกำกับดูแลโรงงานได้อย่างใกล้ชิดด้วยระบบที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของภาครัฐ ซึ่งสุดท้ายแล้วประเทศชาติจะได้ประโยชน์ ที่นอกจากจะสามารถลดปริมาณกากอุตสาหกรรมได้แล้ว ยังได้พลังงานเข้ามาใช้ในประเทศอีกด้วย" นายสุวัฒน์กล่าว
โครงการนี้มีระยะเวลาการศึกษาประมาณ 1 ปี โดยเบื้องต้นจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 ภูมิภาคของไทย คือ ภาคกลาง ปริมณฑล และภาคตะวันออก ในโซนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งภาคตะวันตกที่จะเชื่อมกับโซนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจอาเซียน รองรับการรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ความร่วมมือของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอนาคต และหากโครงการนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วก่อตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบสำหรับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว จะมีโครงการนำร่อง คาดว่าจะเริ่มโครงการแรกที่ภาคกลาง ปริมณฑล พื้นที่ 1 พันไร่ โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสด และเงินที่ได้จากการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ ราว 1.2 พันล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) โดยปัจจุบันมีกองทุนจากต่างประเทศเข้ามาเจรจาแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
"โครงการนิคมฯพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เราน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการศึกษาทำนิคมฯ หลังจากนั้นก็น่าจะต้องมีการตั้งบริษัทฯย่อยขึ้นดูแล ขณะที่เราก็เปิดกว้าง หากพันธมิตรสนใจ แต่หากไม่มีพันธมิตรสนใจเราก็มีศักภาพในการดำเนินการเอง"นายสุวัฒน์กล่าว
นายสุวัฒน์ คาดว่าหลังจากสามารถดำเนินโครงการนิคมฯ แล้วจะส่งผลให้สัดส่วนรายได้ ในอนาคตหรือในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมาจาก 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม ,ธุรกิจโรงไฟฟ้า และธุรกิจนิคมพลังงานทดแทนจากวัสดุไม่ได้ใช้แล้ว
*คาดรายได้ปี 59 โต 20%
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,518 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณกากอุตสาหกรรมที่รับกำจัดเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่า ณ สิ้นปี 58 จะอยู่ที่ 3.5 แสนตัน เมื่อเทียบกับปี 57 ที่อยู่ที่ 2.97 แสนตัน ขณะที่ต้นทุนจากการให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรม มีอัตราลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับรายได้จากการให้บริการ จากมีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ในปี 59 บริษัทคาดรายได้จะเติบโตต่อเนื่องราว 20% จากปีนี้ โดยสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมเป็นหลัก และจะรับรู้รายได้จากโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 9.4 เมกะวัตต์ จากวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายมูลค่าโครงการ 1,150 ล้านบาท ดำเนินการผ่านบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี คาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงกลางปี 59 และบริษัทจะรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 50% ในบริษัทย่อยดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของบริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เป็นเวลา 8 ปี และขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในระบบให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff:FiT) อัตราค่าไฟ 6.78 บาท/หน่วยใน 8 ปีแรก และอยู่ที่ระดับ 6.08 บาท/หน่วย ใน 12 ปีถัดไปซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วรายแรกของไทยที่มีโครงการขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.ในระบบดังกล่าว และยังเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในระบบ FiT ในการนำเอาสิ่งเหลือใช้จากอุตสาหกรรมมาแปรรูปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า