- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 06 November 2015 17:54
- Hits: 1970
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย นำร่องคลัสเตอร์ พากลุ่ม 'เครื่องสำอาง-เกษตรอินทรีย์'ร่วมมือทางการค้าระหว่างภาครัฐและเอกชน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่สมาพันเอสเอ็มอีไทย ได้มีการเชิญกลุ่มเอสเอ็มอีไทย (SMEs) ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกเครือข่ายภาคีธุรกิจถึง 92 องค์กร และมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5 ล้านรายที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายภาคีสมาชิก รวมถึงมีการจัดตั้งคลัสเตอร์ธุรกิจและกลุ่มคณะทำงานตามความต้องการของกลุ่มธุรกิจ เพื่อร่วมกันระดมสมองในการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอแนะที่ตรงกับความต้องการทางธุรกิจอย่างแท้จริง โดยมีสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยในการร่วมเป็นช่องทางสนับสนุนและเชื่อมโยงความต้องการดังกล่าวไปเสนอต่อภาครัฐในลำดับต่อไป ล่าสุดคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรอินทรีย์ ในกลุ่มธุรกิจชาและธุรกิจข้าว ได้เริ่มนำร่องแนวทางการนำเสนอแผนพัฒนาธุรกิจที่ชัดเจนแล้ว
โดย (วันที่ 3 พฤศจิกายน) ได้จัด “งานแถลงข่าวยุทธศาสตร์บูรณาการ SMEs อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลก และพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย” ขึ้น ณ ห้องประชุม 222 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคซึ่งกิจกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและกลุ่มธุรกิจเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้ความร่วมมือของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ให้มีการเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งในขณะนี้กลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจอื่นๆ ก็อยู่ระหว่างเตรียมแผนการพัฒนาธุรกิจร่วมกับทางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยในลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมากด้วย
นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอาง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวเสริมว่า การจัดงานยุทธศาสตร์บูรณาการ SMEs อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ตลาดโลกในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือที่สำคัญระหว่างทุกภาคส่วน ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงกลุ่มผู้ประกอบการในคลัสเตอร์เครื่องสำอาง และคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์ ภายในกิจกรรมในครั้งนี้จัดให้มีการเสวนาร่วมกัน ในหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญประกอบด้วยเรื่องยุทธศาสตร์การบูรณาการของกลุ่ม SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และการเชื่อมโยงกับธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ ของกลุ่มธุรกิจชาและข้าว โดย นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, การจัดตั้งศูนย์กลางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางสู่ตลาดสากล โดย รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ ผู้บริหารโครงการคอสเมค บริษัท รี๊ด เทรดเด็กซ์ จำกัด, การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเครื่องสำอางไทยและเครื่องสำอางระดับโลก โดย รศ.ดร.สุรพล นธการกิจกุล นายกสมาคมนักเคมีเครื่องสำอางแห่งประเทศไทย, นโยบายการกระตุ้นธุรกิจเอสเอ็มอีไทย โดยผู้บริหารของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, การบูรณาการเครื่องสำอางครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำโดยกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอางสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น
“นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าว มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการค้า 3 กลุ่มด้วยกัน อันได้แก่ การลงนามระหว่างกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กับการลงนามระหว่างบริษัทรี๊ด เทรดเด็กซ์ จำกัด , ระหว่างบริษัทบรอนสัน แอนด์ จาคอบส์ อินเตอร์เนชั่นแนล กับบริษัทใบชาโชคจำเริญ จำกัด และการลงนามระหว่างบริษัท บรอนสัน แอนด์ จาคอบส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับบริษัทไทยสมาร์ทไลฟ์ จำกัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนในการยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีได้เริ่มขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมแล้ว หลังจากนี้ก็จะมีการสานต่อการแผนการพัฒนาธุรกิจร่วมกับเครือข่ายทางธุรกิจมากยิ่งขึ้นในลำดับต่อไป ทั้งนี้ผู้สนใจ สามารถร่วมชมการแสดงสินค้าและบริการเกี่ยวด้านคอร์สเมติกเครื่องสำอาง และกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จากธุรกิจสมาชิกในคลัสเตอร์ที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมากด้วย” นายสมประสงค์ กล่าว
ด้านนางจุฬาพร กรธรทรัพย์ ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไทยสมาร์ทไลฟ์ จำกัด ในประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยโสธร และประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์ไทยของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวเสริมว่า กิจกรรมความร่วมมือระหว่างกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย และคลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการรวมกลุ่มธุรกิจ และการร่วมสร้างแนวทางใหม่ๆ ในการยกระดับคุณภาพการดำเนินธุรกิจในกลุ่มเครือข่ายภาคีสมาชิกของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยอาศัยการเชื่อมโยงและประสานความร่วมมือกันหลายๆ ฝ่าย ตามวัตถุประสงค์และแนวทางที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยได้วางยุทธ์ศาสตร์ไว้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก สามารถนำแนวทางดังกล่าวไปเป็นต้นแบบ และสร้างยุทธศาสตร์เชิงบูรณาการให้กับอุตสาหกรรมของตนเองเพื่อช่วยผลักดันให้กลุ่มธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืนในโอกาสต่อไป
ปัจจุบันสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมีสมาชิกภายใต้ 92 องค์กร ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย เช่น สมาคมการค้าไทยสมาร์ทเอสเอ็มอี, สมาคมการค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย, สมาคมแฟรนไชส์และไลเซ่นส์, สมาคมพ่อค้าจังหวัดยะลา, สมาคมเอสเอ็มอีไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ชมรมเครือข่ายผู้ประกอบการใหม่ NEC Network, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวนครนายก, สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย, เครือข่ายธุรกิจ Biz Club Thailand, สมาคมภัตตาคารไทย, สมาคมบริการดูแลผู้สูงอายุไทย, ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย, สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย, SMART SME CLUB (ภายใต้พีเพิลมีเดีย กรุ๊ป), สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
ที่ผ่านมา สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ประกอบด้วย คณะทำงานการค้าภายในประเทศ, คณะทำงานด้านการค้าตลาดต่างประเทศ, คณะทำงานเรื่องการค้าชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ, คณะทำงานเรื่อง Trade Mission, คณะทำงานเรื่องกิจกรรมการเชื่อมโยง, คณะทำงานเรื่องกิจกรรมสัมพันธ์, คณะทำงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP, คณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์สายการผลิต, คณะทำงานสื่อสารองค์และประชาสัมพันธ์, คณะทำงานเรื่องการพัฒนาและยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SME Development) และคณะทำงานเรื่อง Digital Business Intelligence ส่วนการรวมกันเป็นกลุ่มธุรกิจหรือ Cluster นั้น ประกอบด้วยคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป, คลัสเตอร์เกษตรอินทรีย์แปรรูป, คลัสเตอร์เครื่องสำอาง, คลัสเตอร์สปา ท่องเที่ยวและบริการผู้สูงอายุ, คลัสเตอร์บริการขนส่งทางอากาศ (Air Logistic) และคลัสเตอร์สื่อสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับภาคีสมาชิกใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มคลัสเตอร์ธุรกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันและสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย มีพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันได้ในระดับสากลในลำดับต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย