- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 04 November 2015 19:46
- Hits: 4699
ภาครัฐ-เอกชน (PPP) จับมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จ.ตาก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน วิสาหกิจอุตสาหกรรมพลาสติกไทยสู่ตลาดโลก
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติเป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินธุรกิจ ระหว่าง บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) - SPI โดย นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการ และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) - PTTGC โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดย นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการลงนาม MOU ในครั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีความพร้อม ในด้านต่าง ๆ คือ สาธารณูปโภค-สาธารณูปการ โลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง แรงงาน และการสนับสนุน สิทธิพิเศษจากภาครัฐ ในด้านการลงทุนและส่งเสริมการขยายตลาดของสินค้าพลาสติก ภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของอุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทย ความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สำหรับสินค้าวิสาหกิจ (Cluster) ของอุตสาหกรรมพลาสติกในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะให้การสนับสนุนผู้ผลิตในการหาตลาดและการกระจายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนร่วมกัน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ นับเป็นการผนึกพลังความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้ผลิตปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคชั้นนำรายใหญ่ของประเทศไทย ที่มีการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกจำนวนมาก รวมถึงมีการลงทุนด้านสวนอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก โดยจะร่วมมือในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ทดแทนการนำเข้า ใช้วัตถุดิบในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทักษะความรู้ และการร่วมกันทดลองเดินเครื่องจักรและทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต รวมถึงการดำเนินการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนการร่วมจัดทำ โครงการ CSR / CSV เพื่อตอบแทนชุมชนและสังคมด้วย
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางการพัฒนาคลัสเตอร์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าไทยตามนโยบายของรัฐบาล ที่มองว่าปัจจุบันการส่งออกต้องพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ การรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์พลาสติกในพื้นที่อำเภอแม่สอดนี้ นอกจากจะช่วยให้มีการพัฒนาสินค้าและสร้างบุคลากรในวิชาชีพเฉพาะ (Specialist) ที่รวดเร็ว สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้แล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางการค้าในตลาดอาเซียน ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงไปสู่ตลาดขนาดใหญ่อย่างอินเดียและจีนในอนาคต กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะเข้าไปช่วยผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกผ่านการค้าชายแดน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้กลุ่ม SME ไทยได้ใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานที่จะเกิดขึ้นใหม่ไปพร้อมกันอีกด้วย
“การบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะช่วยสานความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าและสร้างเครือข่ายการค้าเพื่อให้สามารถตอบโจทย์โลกการค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีกลุ่มภาคเอกชนใดต้องการสร้างความร่วมมือในรูปแบบนี้สำหรับอุตสาหกรรมสินค้าหรือธุรกิจบริการในคลัสเตอร์อื่นๆเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืนต่อไป”
สหภาพเมียนมาร์ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มประเทศ CLMV (ได้แก่กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ซึ่งในปี 2557 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ8.5 ปัจจุบัน สหภาพเมียนมาร์ มีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่ามากกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี เป็นการนำเข้าจากประเทศไทย 2,900 ล้านบาทต่อปี โดยเกือบครึ่งของมูลค่าการค้ากับไทยเป็นการค้าผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งติดต่อกับชายแดนสหภาพเมียนมาร์ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงเป็นทำเลที่มีศักยภาพในการพัฒนา มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 20 ต่อปี
สำหรับ มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางการค้าชายแดนในระยะ 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2558) มีมูลค่า 738,909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 126,519 ล้านบาท ในส่วนของด่านแม่สอด เดือนมกราคม - กันยายน 2558 มีมูลค่าสินค้าส่งออกรวม 47,739 ล้านบาท และมูลค่าสินค้านำเข้ารวม 2,741 ล้านบาท
สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ประกอบธุรกิจหลัก 3 ประเภท คือ ธุรกิจการลงทุนในหุ้นบริษัทต่าง ๆ ธุรกิจการให้เช่าและบริการ และ ธุรกิจสวนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งของเครือสหพัฒน์ที่เป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคชนิดต่าง ๆ รายใหญ่ของประเทศดำเนินการตั้งแต่ผลิตไปจนถึงขายปลีก ทั้งอาหารกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล เสื้อผ้า เครื่องสำอางรองเท้า มีบริษัทในเครือมากกว่า 200 บริษัท โดยแบ่งการลงทุนเป็น 3 สายธุรกิจหลัก คือ สายธุรกิจการผลิต สายธุรกิจจัดจำหน่าย และสายธุรกิจบริการและอื่น ๆ
พีทีที โกลบอล เคมิคอล ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ของประเทศไทย ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจร (Integrated Petrochemical and Refining) เป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิต ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์รวม 8.75 ล้านตันต่อปี ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำของโลกด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (DJSI) ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ติดต่อกัน 3 ปี (2556-2558) และยังเป็นบริษัทเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีเป้าหมายในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่ม AEC รวมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการในการทำตลาดและการจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยให้เป็นสากลและยั่งยืน
คำกล่าวรายงานความร่วมมือการดำเนินธุรกิจ
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง PTTGC, SPI และ DITP
โดยคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2558 ระหว่างเวลา 15.00-16.00 น.ณ ห้อง Synergy Hall 1 ชั้น 6 อาคารศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารซี
-----------------------------------------------------
เรียน -พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
- คุณอภิรดี ตันตราภรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
- คุณมาลี โชคล้ำเลิศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
- คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ประธานกรรมการ
บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)
- ท่านผู้บริหาร สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในนาม บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอขอบคุณ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านผู้บริหาร สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินธุรกิจฯ ในวันนี้
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มีนโยบายในการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อีกทั้งรัฐบาลได้มีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นหนึ่งในพื้นที่หลักที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลาสติกในสาธารณรัฐเมียนมาร์ ซึ่งนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากประเทศไทยมูลค่าเฉลี่ยต่อปีกว่า 2,900 ล้านบาท บริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงโอกาสการลงทุน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติก รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคครบวงจร อันดับหนึ่งของคนไทย และมีความเชี่ยวชาญในการบริหารสวนอุตสาหกรรม มีความพร้อมของพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อีกทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในด้านการตลาดและการจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ อีกด้วย
การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินธุรกิจ ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ :-
พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลและทักษะความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน
- บุกเบิกพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และร่วมกันแสวงหาพันธมิตรในการลงทุน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจ ของอุตสาหกรรมพลาสติก
- ร่วมกันในการหาตลาดเพื่อการค้าภายในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก
ในวันนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรที่มีความแข็งแกร่งและมีศักยภาพ อันจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับการลงทุน ในอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ขอบคุณครับ
คำกล่าวแสดงความยินดี
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินธุรกิจ ระหว่าง PTTGC, SPI และ DITP
โดยพลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ผมมีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในวันนี้
โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม นับเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงการค้า การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็นการช่วยรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ได้เกิดความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรในวันนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ให้มีศักยภาพความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันได้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน ลดการนำเข้า และร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งนับเป็นพลังความร่วมมือที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ผมมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความแข็งแกร่งของทั้ง 3 องค์กรในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาและความร่วมมือในการสร้างสรรค์ประโยชน์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณครับ
คำกล่าว รัฐมนตรีว่า การกระทรวงพาณิชย์
ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสามฝ่าย (MOU)
แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนทุกท่าน
ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยขึ้นไปในอีกระดับหนึ่ง
ดิฉัน ขอเรียนว่า รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเน้นการพัฒนาความเข้มแข็งอุตสาหกรรมสำคัญๆในรูปแบบของคลัสเตอร์ สร้างเป็นห่วงโซ่การผลิตแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละภาคอุตสาหกรรม เกิดการลดต้นทุนการผลิต และช่วยการเสริมสร้างศักยภาพซึ่งกันและกันภายในแต่ละอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไทยได้ต่อไป
การผลักดันการส่งออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการค้าชายแดนก็เป็นนโยบายสำคัญ ของรัฐบาลเช่นกัน ดิฉันขอเรียนว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีการส่งออกโดยรวมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่าประมาณแปดแสนสองหมื่นล้านบาท โดยเป็นการส่งออกผ่านด่านการค้าชายแดนถึงกว่าหกแสนล้านบาท หรือประมาณสามในสี่ของการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด การค้าชายแดนจึงเป็นช่องทางทางการค้าสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรจะมองข้ามไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด่านแม่สอดซึ่งเป็นประตูสู่ประเทศเมียนมาร์ โดยประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าผ่านทางด่านนี้ถึงประมาณหกหมื่นล้านบาทในปี 2557 ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากทางด้านโลจิสติกส์แล้วจะเห็นได้ว่า สินค้าจากด่านแม่สอดนอกจากจะสามารถส่งตรงไปยังเมืองสำคัญของประเทศเมียนมาร์อย่างเมืองย่างกุ้ง ต่อขึ้นไปสู่ยังกรุง เนปิดอว์และเมืองมัณฑะเลย์ได้แล้ว ยังจะสามารถเชื่อมต่อไปยังตลาดขนาดมหึมาอย่างอินเดียและจีนต่อไปได้อีกด้วย ซึ่งดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าจะมีสินค้าไทยส่งออกผ่านทางช่องทางนี้เป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปีในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน
ท่านผู้มีเกียรติคะ
ดิฉันขอเรียนว่า ความตกลงสามฝ่ายในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ทางการค้าที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นการดำเนินการเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการสร้างเครือข่ายการค้าและพัฒนาสินค้าร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรในประเทศ การสร้างความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาค และการเพิ่มโอกาสทางการค้าของสินค้าไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ดิฉันในนามของกระทรวงพาณิชย์ ขอยืนยันว่ากระทรวงฯจะให้การสนับสนุนตามความตกลงนี้ อย่างดีที่สุด
ขอบคุณค่ะ
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ :
ณิชาภา จรัสไกรสร โทร. 087-800-6997 Email : [email protected]
จินตรัตน์ สายอินทวงศ์ โทร. 081-803-6607 Email : [email protected]
PTTGC-สหพัฒน์-พาณิชย์ ร่วมมือตั้งคลัสเตอร์พลาสติกในเขต ศก.พิเศษแม่สอด
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ขณะที่การร่วมมือกับกลุ่มสหพัฒน์เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด จ.ตาก สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกนั้น เชื่อว่าจะช่วยขยายโอกาสในการขายผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกของกลุ่มบริษัทมากขึ้น
บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง (SPI)และกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมลงนามร่วมกันเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสินค้าวิสาหกิจ(Cluster) ของอุตสาหกรรมพลาสติก โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนผู้ผลิตในการหาตลาดและการกระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศด้วย
"เราเชื่อว่า ยอดขายของเราจะทยอยเพิ่มขึ้น เพราะตลาดพม่าเติบโตรวดเร็วในอัตราที่สูง"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งกลุ่มบริษัทก็ได้นำผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติก 40 บริษัทลงพื้นที่เขตเศรษฐกิจดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจและมองเห็นโอกาสการลงทุน แต่พื้นที่ของหน่วยงานรัฐอาจจะยังเกิดได้ช้า ขณะที่ในส่วนของสหพัฒน์ ซึ่งมีพื้นที่สวนอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ในอ.แม่สอด ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว ก็จะทำให้สามารถพัฒนาสินค้าในกลุ่มคัสเตอร์พลาสติกได้รวดเร็วขึ้น จึงนำมาซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้
ล่าสุด ผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติกราว 24 บริษัทจาก 40 บริษัทดังกล่าว ให้ความสนใจที่จะขยายงานเข้าไปในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนได้ในต้นปีหน้า ขณะที่ในส่วนของกลุ่มบริษัทก็จะเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนเรื่องของการจัดตั้งโกดังสินค้าเม็ดพลาสติกเพื่อรองรับผู้ประกอบการแปรรูปพลาสติกดังกล่าว
ปัจจุบันเมียนมาร์ นับว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยในปี 57 มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8.5% และปัจจุบันมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่ามากกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี เป็นการนำเข้าจากไทย 2.9 พันล้านบาท/ปี โดยเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้ากับไทยเป็นการค้าผ่านอ.แม่สอด
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการของ PTTGC กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัทและกลุ่มสหพัฒน์นั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยนอกเหนือจากความร่วมมือในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดแล้ว จะยังมีความร่วมมือเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ด้วยนวัตกรรมใหม่ให้กับกลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งปัจจุบันสหพัฒน์มียอดซื้อเม็ดพลาสติกจากกลุ่มบริษัทคิดเป็น 1 ใน 4 ของการซื้อเม็ดพลาสติกทั้งหมดของสหพัฒน์ ซึ่งหากสามารถพัฒนาความร่วมมือได้มากขึ้นก็จะช่วยสนับสนุนยอดขายของกลุ่มบริษัทให้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
อนึ่ง ปัจจุบันกลุ่มสหพัฒน์ ดำเนินธุรกิจสวนอุตสาหกรรมในอ.แม่สอด มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยมีพื้นที่เฟสแรก 130 ไร่ ซึ่งมีลูกค้าอยู่ราว 4-5 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสิ่งทอ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ก็จะเป็นโอกาสให้มีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่กลุ่มสหพัฒน์ยังอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่เฟส 2 อีกราว 300 ไร่ เพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตด้วย
PTTGC คาดโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กในอินโดนีเซียชะลอออกไป 1-2 ปี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) คาดว่าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย มูลค่าราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น อาจต้องชะลอโครงการออกไป 1-2 ปีหลังอินโดนีเซียจัดลำดับความสำคัญของโครงการลดลง แต่ก็เป็นโอกาสที่จะได้ศึกษารายละเอียดของโครงการต่อไปให้รอบคอบขึ้นอีก
"อินโดฯ รัฐบาลเขาเลือกที่จะทำเรื่องของโรงกลั่นก่อน เขานำเข้า finish product เยอะ และส่งออกน้ำมันดิบ คือเขาขาดกำลังการกลั่น แต่เราบอกเขาว่า value chain ได้ไม่เยอะ มาร์จิ้นไม่เยอะ ไม่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พยายามจะบอกเขา แต่เขาก็บอกว่าอันนี้มันสำคัญสำหรับคนในชาติ เขาก็เลยอยากจะทำโรงกลั่นก่อน พอโรงกลั่นอืด เขาก็จะไปทำเรื่องโรงไฟฟ้า เราก็รอได้ เฟสต่อไปเขาก็ต้องทำ ถ้าโครงการดีเลย์แล้วเป็นประโยชน์ ชัดเจนก็โอเค ไม่มารื้อทีหลัง ปีสองปีนี้เราก็ทำการศึกษาไปเรื่อยๆ เขาก็มาให้เราศึกษาเรื่อยๆยังไม่ได้ทิ้ง"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าของโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ ที่มีมูลค่าราว 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยคาดว่าจะใช้งบศึกษาราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐทั้งในส่วนของการออกแบบ การหาตลาด และพันธมิตร รวมถึงการหาแหล่งเงินที่เหมาะสมด้วย โดยคาดว่าจะสรุปความชัดเจนได้ในราวกลางปี 59
ขณะที่การลงทุนเพื่อขยายงานภายในประเทศของกลุ่มบริษัทนั้นยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมพิเศษเพื่อเร่งให้ภาคเอกชนลงทุนมากขึ้นนั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของภาคเอกชน เพราะการลงทุนของกลุ่มบริษัทนั้น มีมูลค่าโครงการสูงเป็นหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว
อินโฟเควสท์