- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 23 October 2015 21:36
- Hits: 3957
อุตฯรองเท้าอ่วมยอดดิ่ง 70%จับตาปีหน้าส่อปิดกิจการเพียบแนะปรับกลยุทธ์รับ'เออีซี'
ไทยโพสต์ : อุตสาหกรรม * อุตสาหกรรมรองเท้าอ่วม! แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว หลังยอดขายร่วงต่อเนื่องถึง 70% หวั่นผู้ประกอบการรายเล็กกว่า 1,000 ราย ปิดกิจการ 'นายกสมาคม'แนะปรับตัวเปลี่ยนจากผู้ส่งออกเป็นส่งวัตถุดิบแทน รวมถึงใช้ความได้เปรียบด้านภูมิประเทศ เป็นศูนย์กระจายสินค้า หลังไทยเข้าสู่เออีซี
นายชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 ผู้ประกอบการ รายย่อยในอุตสาหกรรมผลิตรองเท้าที่มีอยู่กว่า 1,000 ราย มี แนวโน้มปิดกิจการลงจำนวนมาก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาของปี 2558 มียอดขายในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องกว่า 70% เมื่อเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงซื้อในประเทศที่อ่อนตัวลง
ทั้งนี้ กำลังซื้อที่ลดต่ำลงส่ง ผลต่อแรงซื้อในประเทศลดลงตามไปด้วย จากเดิมที่ผู้ประกอบการรายย่อยเคยขายได้เฉลี่ยกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน เหลือเพียง 2-3 หมื่นบาทต่อเดือน และขณะนี้มีหลายรายที่ต้องปิดกิจการ ซึ่งทางกลุ่มได้หารือกันว่าปี 2559 จะอยู่กันอย่างไร จะแบกรับภาระ คนงานได้หรือไม่ ที่สำคัญเพื่อความอยู่รอดผู้ประกอบการต้องปรับตัวเอง
นายชนินทร์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตรองเท้ารายใหญ่ส่วนมากได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว อาทิ พม่า และกัมพูชาบางส่วน เช่นเดียวกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อย่างไต้หวันเองก็ย้ายฐานไปยังกัมพูชา เช่นกัน ซึ่งรายใหญ่คงไม่มีปัญหาแต่รายกลางและเล็กในไทย โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่ทำรองเท้าป้อนตลาดในประเทศเดิมเคยมองว่าจะอยู่รอด แต่ตอนนี้คงจะลำบากหากไม่ปรับตัวเองในการทำงานหลายๆ ด้านมากขึ้น เพื่อให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนเร็ว
"ขณะนี้ผู้ผลิตไทยจะรับจ้างผลิตและทำแบรนด์สินค้าของตนเองไปพร้อมกันแต่เพียงเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศที่ตกต่ำ หลายรายต้องหันไปใช้วิธีการนำเข้าจากต่างประเทศมาทำตลาดการขาย เฉพาะวัตถุดิบเป็นต้น ซึ่งที่สุดก็อาจต้องเลือกเพราะเวลานี้การ รับจ้างผลิตเอง ออเดอร์ก็หนีไป เพื่อนบ้านหมดแล้ว เพราะต้น ทุนต่ำ" นายชนินทร์กล่าว
นายชนินทร์ กล่าวถึงการส่งออกในอุตสาหกรรมรองเท้าว่า ในปีนี้จะติดลบกว่า 5% และในปี 2559 ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะการผลิตของไทยเป็นเพียงส่วนน้อยมากของตลาดโลก ที่มีผู้ค้าหลักๆ คือจีนและเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบหนังมากสุดในโลกแล้ว และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เวียดนามสั่งนำเข้าวัตถุดิบประเภทหนังฟอก ชิ้นส่วนต่างๆ ดังนั้นในอนาคตไทยต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตรองเท้า เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนให้กับตลาดโลกแทน รวมถึงการเป็นผู้กระจายวัตถุดิบสู่ภูมิภาค จากความได้เปรียบทางภูมิประเทศในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC).