- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 16 October 2015 23:18
- Hits: 3354
ผู้ผลิตเหล็กเส้นฯ ไทยล่มสลายแน่ เร่งนายกฯ ปกป้องการนำเข้าเหล็กเส้นฯ จากจีน
หวั่นสิ่งก่อสร้างถล่มกระทบความปลอดภัยของประชาชนและอุตสาหกรรมเหล็กกว่าแสนล้านพังพินาศ
กลุ่มผู้ประกอบการผลิตสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตไทยรวมตัวกันครั้งใหญ่กว่า 30 ราย เข้าพบผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีช่วยเร่งสั่งปกป้องเหล็กเส้นฯ นำเข้า อย่างไม่เป็นธรรมจากประเทศจีน ซึ่งมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ หวั่นตึก อาคาร สิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทางและสาธารณูปโภคพื้นฐานถล่ม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณชน
กลุ่มผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศไทยมากกว่า 30 ราย ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนขอความอนุเคราะห์นายกรัฐมนตรีในการปกป้องผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้าเหล็กเส้นอย่างไม่เป็นธรรมจากประเทศจีน ผ่านผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล หลังรอการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นฯ ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการมานานเกือบหนึ่งปีแต่ก็ยังไม่แล้วเสร็จ
ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตในประเทศไทย สรุปการชี้แจงรายละเอียดประกอบการร้องเรียนว่า “กลุ่มผู้ประกอบการฯ ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้การพิจารณากำหนดแนวทางในการช่วยเหลือเกี่ยวกับการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตอย่างไม่เป็นธรรมจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจากการยื่นหนังสือร้องเรียนครั้งที่แล้วมาเกือบหนึ่งปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่านก่อนได้สั่งการให้ สมอ.เร่งปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นฯ โดยกำหนดค่าส่วนประกอบทางเคมีเพิ่มเติมเป็นกรณีเร่งด่วนให้แล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2558 เนื่องจากยังมีข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยในเรื่องการเติมธาตุอัลลอยด์ในเนื้อเหล็กและเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าเหล็กเส้นฯ จากประเทศจีน ซึ่งนำเข้าอย่างไม่เป็นธรรม เอาเข้ามาขายด้วยราคาต่ำมาก แต่มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น น่าห่วงสวัสดิภาพของผู้ใช้งานและโครงสร้างต่างๆ เพราะเมื่อเหล็กเส้นฯ ดังกล่าวถูกนำไปใช้ในงานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ งานอาคาร บ้านเรือนทั่วไปซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะถล่มพังลงมาเมื่อไหร่ เป็นอันตรายต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม จนถึงขณะนี้เกือบหนึ่งปีแล้ว สมอ.ก็ยังปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นฯ โดยห้ามการเจือธาตุอัลลอยด์ในผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นฯ ไม่แล้วเสร็จ แต่กลับปรากฏว่าในระหว่างที่แก้ไขมาตรฐาน มอก. ไม่แล้วเสร็จนี้ สมอ.กลับไปออกใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับให้กับบางบริษัท เมื่อเดือนกันยายน ทั้งๆ ที่ ยืนยันมาโดยตลอดว่า จะไม่มีการอนุญาตนำเข้าสินค้าเหล็กเส้นฯ ในระหว่างการแก้ไขมาตรฐานฯ อย่างแน่นอน ซึ่งอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างภายในของประเทศไทยขณะนี้อยู่ในภาวะล้นตลาด เรามีกำลังการผลิตเหล็กเส้นฯ ที่มีคุณภาพตาม มอก.อยู่เหลือเฟือ มีรวมกันอยู่ถึง 7 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการในประเทศมีน้อยมากอยู่ที่เพียงประมาณปีละ 2 ล้านตันเท่านั้น พวกเราใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่น้อยมากๆ เพียงร้อยละ 28 จึงไม่เห็นมีเหตุผลหรือความจำเป็นใดๆ เลยว่าทำไม สมอ.จึงต้องออกใบอนุญาตฯ ให้นำเข้าเหล็กเส้นจากจีนเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมภายในประเทศอีก และเป็นการนำเข้าอย่างไม่มีความเป็นธรรมทางการค้าอีกด้วย”
“การที่ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นฯ สามารถนำเข้าจากประเทศจีนมาจำหน่ายในประเทศไทยด้วยราคาที่ต่ำผิดปกติ อย่างมากนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตจีนแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ผู้ผลิตจีนได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของจีนในการส่งออกด้วยการคืนภาษีร้อยละ 13 และนอกจากนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของตนเองเพิ่มเติมเข้าไปอีก โดยช่วยเหลือการดำเนินกิจการ เช่น การสนับสนุนที่ดิน พลังงาน เงินกู้ยืมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด การยกเว้นการจ่ายภาษีเงินได้นิติ บุคคล ทำให้สามารถสร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตสินค้า และการนำเข้าเหล็กอัลลอยด์ในประเทศไทย ยังได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีก 5% ซึ่งภาครัฐได้ยกเว้นสำหรับเหล็กเกรดพิเศษ แต่เหล็กเส้นก่อสร้างไม่ได้เป็นเหล็กเกรดพิเศษแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ตระหนักดีถึงภัยคุกคามนี้ และออกมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศของตนเองอย่างรวดเร็วด้วยกันทั้งสิ้น
ในขณะที่ประเทศไทยยังดำเนินการอย่างเชื่องช้าอยู่มาก จึงเป็นเสมือนหลุมใหญ่ให้จีนส่งออกเหล็กเส้นฯ มาไทยด้วยการเอาเปรียบทางการค้า จนไทยเรากลายมาเป็นผู้นำเข้าเหล็กมากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากรัฐบาลไม่ปกป้องแล้ว ก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมเหล็กเส้นภายในประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 150,000 ล้านบาท มีการจ้างงานโดยตรงมากกว่า 25,000 คน ให้ต้องปิดกิจการลง และส่งผลถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น ผู้ประกอบการจัดหาเศษเหล็กและวัตถุดิบ ผู้รับเหมาขนส่ง รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเนื่องจากต้องขาดดุลการค้าเป็นจำนวนมากกว่า 26,000 ล้านบาทต่อปี และยังต้องสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะได้รับจากผู้ประกอบการฯ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จะได้รับจากการจ้างงาน เป็นจำนวนรวมมากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ตลอดจนรัฐยังจะต้องดูแลผู้ตกงานอีกด้วย”
ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การนำเข้าเหล็กเส้นฯ ดังกล่าว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยส่วนรวมอีกด้วย เพราะเหล็กเส้นฯ นำเข้าจากจีนมีการเจือธาตุอื่น เช่น โบรอน หรือโครเมียม จะส่งผลต่อคุณภาพของเหล็กเส้นฯ และมีความเสี่ยงต่อการพังทลายของโครงสร้างอย่างรุนแรงหากมีการนำไปใช้งานในรูปแบบที่ต้องมีการเชื่อม จึงเป็นภารกิจและหน้าที่สำคัญของหน่วยงานภาครัฐในอันที่จะต้องช่วยปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไว้ก่อน”
จากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวมา กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็ก จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมาร้องขอความช่วยเหลือจาก ท่านนายกรัฐมนตรี โดยข้อเรียกร้องของกลุ่มฯ คือ
1. ทบทวนใบอนุญาตการนำเข้าเหล็กเส้นฯ ของผู้นำเข้าที่ได้ออกไปแล้ว
2. ระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าเหล็กเส้นเพิ่มเติม
3. เร่งรัดการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ในเรื่องส่วนประกอบทางเคมี
4. ทบทวนขั้นตอนการออกใบอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ โดยควรกำหนดให้ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรม (กมอ.) ก่อนที่จะมีการออกใบอนุญาต
5. ใบอนุญาตควรมีกำหนดวันหมดอายุ ดังเช่นใบอนุญาตของประเทศที่พัฒนาแล้ว