- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 30 June 2014 22:13
- Hits: 3257
CIC ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง 'คสช.'วอนศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านก่อนยกเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์
แนวหน้า : นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ประเทศไทย ไทล์ (Chrysotile Information Center :CIC) เปิดเผยว่า จากกระแสที่จะให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรมไทย โดยมีการพูดถึงอันตรายของการใช้แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์นั้น CIC ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับแร่ดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ และอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และที่สำคัญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา
ทั้งนี้ เนื่องจากหากมีการเร่งรัดดำเนินการใดๆ ด้วยการรวบรัดออกกฎหมายโดยปราศจากการศึกษาอย่างแท้จริงและครบถ้วนแล้ว เกรงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น จะกระทบกับสังคมไทยในวงกว้าง ทั้งหน่วยงาน องค์กรต่างๆ และชาวบ้าน เพราะหากมีการยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ในไทยจะมีมูลค่าความเสียหายถึงประมาณ 5 ล้านล้านบาท และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในไทย เป็นสาเหตุทำให้เกิดการป่วยหรือเสียชีวิต
นายเมธี กล่าวว่า ใยหินแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันในไทยมีเพียงใยหินไครโซไทล์เท่านั้น ที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในด้านความแข็งแรง คงทน และราคาย่อมเยาแก่ผู้บริโภค ดังนั้นการกล่าวถึงใยหินโดยไม่จำแนกและระบุให้ชัดเจนว่าเป็นใยหินชนิดใด อาจทำให้ผู้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้ใยหินแต่ละชนิดมีโครงสร้างทางเคมี คุณสมบัติและความอันตรายที่แตกต่างกัน และปัจจุบันไทยมีมาตรการรองรับในส่วนของการใช้ใยหินไครโซไทล์อยู่แล้ว
โดยปัจจุบันมีผู้ใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีใยหินไครโซไทล์เป็นส่วนผสมากกว่า 50% ของตลาดกระเบื้องมุงหลังคาทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน หากมีการห้ามใช้ จะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขั้น จากราคากระเบื้องที่แพงขึ้น หากกระเบื้องแผ่นใดแผ่นหนึ่งชำรุด อาจต้องเปลี่ยนใหม่หมดทั้งหลัง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีวัสดุทดแทนใดที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าใยหินไครโซไทล์ที่จะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมได้ อีกทั้งวัสดุทดแทนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียง เช่น ซิลิก้า, โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ ก็ยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยในการใช้งานและผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแท้จริง ขณะที่ต้นทุนเส้นใยสังเคราะห์หรือวัตถุดิบทดแทนที่นำมาใช้แทนใยหินไครโซไทล์ มีราคาสูงกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับราคาใยหินไครโซไทล์ เมื่อนำมาผสมในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาแล้ว ราคากระเบื้องจะสูงขึ้นกว่า 50% เท่า
นอกจากนี้ ยังจะทำให้ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น จะส่งผลให้ความสามารถแข่งขันของไทยน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งยังอนุญาตให้มีการใช้ใยหินไครโซไทล์