- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 22 September 2015 22:36
- Hits: 10594
สศอ.ชี้ช่องยกระดับอุตสาหกรรมไทย รับมือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจการค้าโลก
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้ศึกษาถึง ‘ความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับต่างประเทศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก’ รวมทั้งคาดการณ์ผลกระทบจากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายภาคหน้าในเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบันที่มีต่ออุตสาหกรรมไทย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางนโยบายส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อแสวงหาโอกาสและใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น สอดรับตามแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
สืบเนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งโครงสร้าง การผลิต การค้า และการลงทุนของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รูปแบบการผลิตและการค้าของแต่ละประเทศต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลง การเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตระหว่างอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
จากการศึกษาประเทศไทยเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างมาก มีระดับการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกของไทยอยู่ที่ร้อยละ 52 เนื่องจากโครงสร้างการผลิตของไทยส่วนใหญ่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาใช้ในกระบวนการผลิต และการส่งออกสินค้าขั้นกลางอยู่ในระดับสูง จากการที่ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกในระดับสูง ส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกอย่างมาก และยังเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตของประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันไทยเป็นฮับของเอเชียในอุตสาหกรรมสาขายานยนต์และชิ้นส่วน และเป็นฐานการผลิตในหลายๆ สาขาอุตสาหกรรม และมีระดับเทคโนโลยีสูงพอที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้ จากการที่ห่วงโซ่มูลค่าโลกเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการผลิต การลงทุน และการค้าของโลก รวมทั้งยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และรายได้ของประเทศ ห่วงโซ่มูลค่าโลกยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศผ่านการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว
จากการศึกษา ไทยมีระดับการใช้ปัจจัยการผลิตจากในประเทศอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 59 ที่เหลือจะเป็นการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากประเทศคู่ค้าโดยจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.1 รองมา ได้แก่ จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.7 และสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.0 ด้านความเชื่อมโยงปัจจัยการผลิตของไทยกับประเทศคู่ค้า ไทยส่งต่อปัจจัยการผลิตเพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศร้อยละ 63 และมีการส่งต่อปัจจัยการผลิตไปยังอุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ โดยส่งออกไปที่จีนมากที่สุดร้อยละ 11 อุตสาหกรรมที่ส่งต่อปัจจัยการผลิตไปให้มากที่สุด คือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติ
ส่วนการศึกษาการเชื่อมโยงในห่วงโซ่มูลค่าโลกถึงสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญๆ ต่อมูลค่าเพิ่มรวมในห่วงโซ่การผลิตโลกเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้า พบว่าประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มมากที่สุดในโลก 3 อันดับคือ กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน และอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น มักเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างสูงจากอดีต อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสร้างมูลค่าของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นและตกอยู่กับประเทศผู้ผลิตมากขึ้น
สำหรับ ประเทศไทยมีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในการผลิตของห่วงโซ่การผลิตโลกเพียงเล็กน้อย อุตสาหกรรมไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนมูลค่าเพิ่มกับประเทศอื่นในอาเซียน พบว่า ประเทศไทยเองจะอยู่ในอันดับต้นๆ และกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่มูลค่าโลกมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และรองเท้า รองลงมาคือ อุตสาหกรรมไม้ และอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
สำหรับ การศึกษาผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญต่อประเทศไทย พบว่าหากประเทศคู่ค้ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 1 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับมหภาค ทั้งมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม การผลิต การส่งออก และการนำเข้าลดลง โดยผลจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกาใกล้เคียงกัน แต่ประเทศจีนจะส่งผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นๆ เล็กน้อย เนื่องจากในปัจจุบันการเชื่อมโยงการค้าและการผลิตของประเทศไทย และประเทศจีนมีเพิ่มมากขึ้น และการพึ่งพาวัตถุดิบขั้นกลางซึ่งกันและกันมีมากขึ้น ดังนั้นเมื่อประเทศจีนมีความต้องการการบริโภคที่ลดลงร้อยละ 1 จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าประเทศคู่ค้าอื่น โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีจีนมีการบริโภคลดลงร้อยละ1 จะกระทบต่อการเติบโต (จีดีพี) ของไทยลดลงร้อยละ 0.45 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.18 ส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.15 นำเข้ารวมลดลงร้อยละ 0.74 กรณียุโรปมีการบริโภคลดลงร้อยละ 1 กระทบต่อจีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.37 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.15 การส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.11 นำเข้ารวมลดลงร้อยละ 0.69 กรณีญี่ปุ่นมีการบริโภคลดลงร้อยละ 1 กระทบต่อจีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.38 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.16 การส่งออกรวมลดลง 1.16 การนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 0.70 และกรณีสหรัฐอเมริกามีการบริโภคลดลงร้อยละ 1 กระทบต่อจีดีพีของไทยลดลงร้อยละ 0.37 การผลิตรวมลดลงร้อยละ 1.15 การส่งออกรวมลดลงร้อยละ 1.12 และนำเข้ารวมลดลงร้อละ 0.69
ดังนั้น นโยบายในการยกระดับการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงในระดับโลกหรือห่วงโซ่โลก ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ ด้าน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า ไปสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าภายในประเทศมากขึ้น โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมบนฐานศักยภาพของประเทศ การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ
อีกทั้ง ผลักดันให้เพิ่มความเข้มข้นในการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่มูลค่าและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและโลก เน้นให้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของฐานการผลิตและส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาปัจจัยแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยพัฒนา พัฒนาด้านการตลาด การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน สิทธิประโยชน์
แต่อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก(Global Value Chain) ก็ไม่ได้ทำให้มูลค่าเพิ่มของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยยะสำคัญเพียงอย่างเดียว เนื่องจากบางอุตสาหกรรมต้องนำเข้าวัตถุดิบและพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงต้องคำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตเพื่อชดเชย การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หรือ import content ด้วย ซึ่งถือเป็นความจำเป็นอย่างมากเพื่อทำให้ประเทศได้รับประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่มตกอยู่ภายในประเทศให้มากที่สุด
อินโฟเควสท์
สศอ.เผย SMEs ส่วนใหญ่มองความจำเป็นใช้ดิจิตอล'เศรษฐกิจดิจิตอล'เพิ่มโอกาส-ลดต้นทุน
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. ได้สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ ใน 16 สาขาอุตสาหกรรมเพื่อศึกษาถึงความพร้อมของผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สรุปได้ว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหญ่ร้อยละ 25.96 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมีอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 39.42 เข้าใจในระดับปานกลาง และร้อยละ 34.62 มีความเข้าใจน้อย อีกทั้งมีความเข้าใจดีกว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยผู้ประกอบการ SMEs มีเพียง ร้อยละ 4.10 ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจแบบดิจิทัลอิโคโนมีอยู่ในระดับมาก ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.03 มีความรู้และความเข้าใจน้อย ร้อยละ 31.79 มีความเข้าใจปานกลาง และร้อยละ 3.08 ยังไม่เข้าใจ
สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการที่มีความรู้ความเข้าใจมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ร้อยละ 42.86 รองมาได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ ร้อยละ 35.71 กระดาษและสิ่งพิมพ์ ร้อยละ 26.67 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิคส์ ร้อยละ 25.0 อัญมณีและเครื่องประดับร้อยละ 22.73 ตามลำดับ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยาง คิดเป็นร้อยละ 7.14 เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน รองมาคือ อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ ร้อยละ 6.25 เครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 4.76 ตามลำดับ ส่วนแหล่งข้อมูลและช่องทางในการรับรู้ข่าวสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจนั้น ร้อยละ 96.84% ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยตัวเองร้อยละ 2.81 มาจากหน่วยงานของภาคเอกชน และร้อยละ 0.35 มาจากหน่วยงานภาครัฐ
ความเห็นถึงความจำเป็นในการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงาน ผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.45 เห็นถึงความจำเป็นในการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงาน เหตุผลความจำเป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 80.42 เห็นว่ามีความจำเป็นเนื่องจากช่วยในการติดต่อสื่อสารให้มีความสะดวก รวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 18.33 เห็นความจำเป็นเพราะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานทำให้การทำงานสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และร้อยละ 1.25 เห็นว่าช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าได้ ส่วนผู้ประกอบการที่เห็นว่าไม่จำเป็นมีเพียงร้อยละ 4.55 เนื่องจากการดำเนินงานธุรกิจของตนเองส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายที่หน้าร้านและมีการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์เป็นหลัก
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.01 ได้นำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานแล้ว มีเพียงผู้ประกอบการร้อยละ 2.66 ที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้ และร้อยละ 0.33 กำลังจะนำมาใช้นั้นอยู่ในระหว่างการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในอนาคต รูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ส่วนมากร้อยละ 63.86 นำมาใช้ติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต รองมาร้อยละ 25.26 นำมาช่วยในการทำการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ ร้อยละ 5.96 นำมาใช้ทำธุรกรรมทางด้านการเงิน ร้อยละ 1.75 นำมาใช้ด้านการขนส่งสินค้า ร้อยละ 1.40 นำมาใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ร้อยละ 1.05 ใช้ในด้านการผลิต และร้อยละ 0.70 ใช้ในการค้นหาข้อมูลในเชิงธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานของผู้ประกอบการจะมีขั้นตอนการพัฒนาโดยเริ่มต้นจากการเป็น Traditional Economy หรือขายตามหน้าร้านทั่วไป ก้าวไปสู่ระดับขั้นกลางเป็น Connected Economy หรือใช้ติดต่อสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การศึกษาจึงสะท้อนให้เห็นได้ว่า การพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในระดับขั้นกลาง และยังมีโอกาสก้าวไปสู่การนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในระดับขั้นสูงขึ้นหรือเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอิโคโนมีมากขึ้นได้อีก
ผลจากการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 78.45 เห็นว่าไม่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพียงแค่เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันเท่านั้น ไม่ได้นำไปใช้ในการผลิต ส่วนผู้ประกอบการที่เห็นว่าหลังการนำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงมีร้อยละ 21.55 โดยสัดส่วนของต้นทุนที่ลดลงเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด สำหรับต้นทุนที่ลดลง ได้แก่ ร้อยละ 60.66 ระบุว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนในการจ้างพนักงานโดยการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยแทน อีกร้อยละ 39.34 ช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในด้านการติดต่อทางโทรศัพท์เป็นการใช้อีเมลแทน และเมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมที่นำรูปแบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานแล้วช่วยลดต้นทุนในการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
ผู้ประกอบการอีกร้อยละ 74.07 เห็นว่าการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินงานไม่ส่งผลต่อมูลค่าการขาย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากมีการนำดิจิตอลอีโคโนมีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารทางอีเมลเท่านั้น จึงไม่ได้มีส่วนช่วยให้มูลค่าการขายโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการร้อยละ 25.93 เห็นว่าการนำระบบดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้สามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้ โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 5-20 ของยอดขายทั้งหมด ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นมามีผลมาจากหลายประการ เช่น ลูกค้าสามารถดูรายละเอียดของสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น สะดวกกับลูกค้าในการติดต่อสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น การโฆษณาผ่านเว็บไซต์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้มีลูกค้าใหม่ๆ ติดต่อเข้ามาซื้อสินค้า เมื่อพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมที่นำมาใช้แล้วช่วยเพิ่มยอดขายได้มากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ ยาง เครื่องนุ่งหุ่ม อโลหะ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
หากผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยสามารถเข้าใจและเข้าถึงระบบธุรกิจดิจิตอลอิโคโนมีได้เป็นอย่างดี และรู้จักใช้ประโยชน์จากการนำระบบธุรกิจอิจิตอลอิโคโนมีมาใช้เป็นช่องทางธุรกิจและช่องทางการตลาดในด้านต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ จะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีไทยซึ่งเป็นธุรกิจรากฐานสำคัญของประเทศเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต ตามนโยบายรัฐบาลที่กำลังต้องการผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่มั่นคงยั่งยืนของประเทศ
อินโฟเควสท์