- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 28 June 2014 21:08
- Hits: 3259
ภาคการลงทุนเริ่มฟื้นตัว ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.เพิ่ม
แนวหน้า : ดัชนีอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.เพิ่ม-เอกชนเริ่มมั่นใจหลังปัญหาการเมืองจบ
ภาคการลงทุนเริ่มฟื้นตัว
ผู้ประกอบการภาคผลิตเริ่มคลายความกังวลใจ หันกลับลงทุนมากขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมเดือนพ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เทเงินลงทุนมากที่สุดตอนนี้ ผลิตโลหะขั้นมูลฐาน เดินเครื่องจักรเต็มกำลัง บีโอไอ เผยอีก 3 เดือนข้างหน้า ยอดขอส่งเสริมการลงทุนพุ่งกระฉูด แบงก์ชาติ ชี้ครึ่งปีหลังศก.พุ่งแรก ส่งผลยาวไปถึงปี58
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economic Indicator : IEI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 59.09% เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.82 แสดงถึงความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยสะท้อนจากมุมมองของนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่เหนือเส้นมาตรฐาน (มากกว่า 50)
นอกจากนี้ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยังชี้ถึงทิศทางของการฟื้นตัวในอีก 1-3 เดือนข้างหน้า ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัว เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีขอรับการส่งเสริมการลงทุนและดัชนี การประกอบกิจการโรงงานยังคงชะลอตัวลง ทั้งจำนวนโรงงาน จำนวนเงินทุน จำนวนแรงงาน และจำนวนแรงม้า
นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้านการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งจำนวนโรงงาน จำนวนเงินทุน จำนวนแรงงาน และจำนวนแรงม้า อยู่ที่ระดับ 92.71, 230.05, 75.90, 501.42 โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับต้นปี ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานและจำนวนแรงงานมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะที่อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนเงินทุนมากที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐานมีจำนวนแรงม้ามากที่สุด
นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า มิติด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการชะลอตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 171.94 หดตัวร้อยละ 4.08 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 10.05 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังจากการเมืองมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านบวก ได้แก่ HDD ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์ การกลั่นน้ำมัน ผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนอุตสาหกรรมที่ส่งผลด้านลบ ได้แก่ รถยนต์ อัญมณี เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง รถจักรยานยนต์ ขณะที่
อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 61.41 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 56.40 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ เดือนก่อน เช่น ยานยนต์ HDD แปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า ดัชนีขอรับการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 2557 โดยดัชนีจำนวนโครงการ เงินลงทุนและการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 101.10, 45.60, 22.74 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า ดัชนีจำนวนโครงการมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.17 ซึ่งกิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เป็นกิจการที่มีจำนวนโครงการ จำนวนเงินลงทุน และจำนวนการจ้างงานมากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้นหลังมีการแต่งตั้งบอร์ดบีโอไอและอนุมัติเงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอุตสาหกรรมส่งสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในอีก 1-3 เดือนข้างหน้า
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2557 เหลือ 1.5% จากประมาณการครั้งก่อนที่ 2.7% เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 หดตัวลดลงมาก โดยคาดว่าครึ่งปีแรกของปีนี้จะติดลบ -0.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า
สำหรับ ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.4% จากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว และแรงกระตุ้นด้านการคลังที่เพิ่มขึ้นภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
“แม้ว่า แบงก์ชาติจะปรับลดจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 1.5% จากเดิมที่มอง 2.7% แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าที่เคยประเมินเป็นการภายในก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่คาดว่าจะโตไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แต่หลังจากการเมืองเปลี่ยนแปลง เราก็ปรับมาดีขึ้นเป็นโต 1.5%” นายเมธี กล่าว
นายเมธี กล่าวว่า ธปท.ยังได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ขยายตัวที่ 5.5% จากเดิมคาด 4.8% เนื่องจากมองว่าการเปลี่ยนแปลง ทางการเมือง ส่งผลให้นโยบายภาครัฐมีความชัดเจนขึ้น โดยธปท.ประเมินว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในปี 2558 จะอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท จากเดิมซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาทจากปี 2557 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท
“เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวแบบรูปตัว V Shape และกลับสู่ภาวะปกติในปี 2558 ตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึง การจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยให้รายจ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ส่งผลเศรษฐกิจขยายตัวได้ดี” นายเมธี กล่าว
สำหรับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2557 ไว้ที่ 2.6% จากเดิมที่คาด 2.5% ปรับลดลงในปี 2558 มาอยู่ที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% จากเดิมที่คาด 1.5% โดยในปี 2558 ได้ปรับลดลงเหลือ 1.4% เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มค่อนข้างสูง ซึ่งจะเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งในอิรักอาจส่งให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นในระยะสั้น