- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 19 September 2015 08:50
- Hits: 10435
นายกฯ เร่งยกระดับ SMEs ให้เข้มแข็งทั้งด้านเงินทุน-การตลาดเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนศก.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" ว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งเดินหน้า เพื่อทำเศรษฐกิจดิจิตอล เนื่องจากปัจจุบันพบว่า เอสเอ็มอีไม่สามารถสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ได้ ทั้งในเรื่องของการผลิตและการจำหน่าย ซึ่งหากเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอลได้ จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ค่อนข้างมาก เพราะเอสเอ็มอีมีความสำคัญกับประเทศ เนื่องจากมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 37.4% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) และคิดเป็นสัดส่วน 25.5% ของการส่งออกรวม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญของประเทศ
"เอสเอ็มอีวันนี้ เล็กกับกลางไม่โตเสียที เป็นกิจการหลักของประเทศ การแก้ไขปัญหาให้จบต้องไม่ใจร้อน ต้องมีความร่วมมือกัน ถ้าแตกแยกกันด็ไม่จบ พยายามเร่งรัดให้เร็ว วันนี้นอกจากขับเคลื่อนในประเทศ ต่างประเทศก็สำคัญ ดังนั้นเราจะต้องเร่งยกระดับเอสเอ็มอีในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาตนเอง เพราะถ้าไม่พัฒนาตนเอง จะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จะค้าขายกับใครจะต้องสร้างตัวเองให้เข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่น มีแผนธุรกิจที่ดี เราเปรียบเสมือนต้นไม้เล็ก อยู่ภายใต้ต้นใหญ่ คือธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจข้ามชาติ ต้องหาแนวทางจะเชื่อมโยงได้อย่างไร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆออกมา เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และจะทำอย่างไรให้ความต้องการขายกับความต้องการซื้อมีความสมดุลกัน ขณะเดียวกันต้องดึงเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบ ไม่อยากให้ผู้ประกอบการต้องกลัวกับการเสียภาษี ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันจะไม่มีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังหากผู้ประกอบการให้ความร่วมมือ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้นจะต้องเร่งทำในหลายด้าน เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเอสเอ็มอีจะต้องเข้ามาอยู่ในระบบ มีการทำบัญชีให้ถูกต้อง ส่วนอีกด้าน คือ ด้านการตลาด เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีขาดบุคลากรด้านการตลาดที่มีความพร้อม ต้องสร้างแบรนด์ที่ดีมีคุณภาพ
"ทำอย่างไรจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าให้ได้ ต้องมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆที่น่าสนใจ เพื่อรองรับกับความต้องการที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญจะต้องดึงเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะปัจจุบันเอสเอ็มอีในปัจจุบันมี 2.8 ล้านราย แต่มีการจดทะเบียนเพียงประมาณ 700,000 รายเท่านั้น..เป็นไปได้หรือไม่ รัฐบาลจะสร้างแบรนด์ของเรา ถ้าทำได้อาจมียาสีฟันยี่ห้อสมคิดก็ได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท เป็นมาตรการที่ดำเนินการไปก่อน หากไม่เพียงพออาจมีการพิจารณาต่อไป แต่อยากให้ทุกคนช่วยเหลือตัวเองด้วยเพื่อสร้างเข้มแข็งให้กับตัวเอง ส่วนที่ทำในวันนี้ถือว่าเป็นการสร้างกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังช่วยเหลือในเรื่องการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอีที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2558-2559 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มกิจการเป็นเวลา 5 ปี
'อรรชกา'จ่อชงช่วย SMEs ระลอกสอง ผนึกกำลัง 4 กระทรวงเสริมแกร่ง
แนวหน้า : นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือ SMEs ซึ่งในระยะแรกรัฐบาลได้มีมาตรการทางการเงินของกระทรวงการคลัง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว เช่น โครงการสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน การปรับปรุงเงื่อนไขการค้ำประกัน และการร่วมลงทุนในระยะเริ่มต้น รวมทั้งมาตรการทางด้านภาษี ส่วนในระยะที่ 2 เป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs ในด้านต่างๆแบบบูรณาการ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะมุ่งเน้นในด้านผลิตภาพ (Productivity)และนวัตกรรม (Innovation) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นในเรื่องนวัตกรรม (Innovation) และกระทรวงพาณิชย์ มุ่งเน้นในด้านการตลาด
"มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่กระทรวงฯได้ดำเนินการเน้นในเรื่องของการสร้างผู้ประกอบการใหม่และเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งรายเดิมก็อาจมีบางรายที่มีปัญหา ตรงนี้เราก็มีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ และวินิจฉัยว่าเราจะช่วยด้านไหนได้บ้างในเชิงลึกต่อไป ส่วนรายเดิมที่ยังมีศักยภาพเราก็จะส่งเสริมให้มีศักยภาพมากขึ้น คือต้องดูตั้งแต่งานวิจัยพัฒนาซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วย" นางอรรชกา กล่าว
ส่วนเรื่องของการตลาดก็จะเป็นกระทรวงพาณิชย์ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้เราก็ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม(สสว.) กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงต่างๆ ที่มีมาตรการช่วยเหลือ SMEs มาบูรณาการกัน ซึ่งขณะนี้ก็ใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาว่า SMEs ที่เข้าระบบในปี 2559 มีอยู่มากน้อยเพียงใด และจะให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเท่าไหร่ก่อน แล้วจะพิจารณาว่าต้องของบประมาณเสริมหรือไม่อย่างไร เพื่อที่จะให้ ช่วยเหลือ SMEs ได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งก็คงใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
มาตรการหลัก 3 มาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรมในการช่วยเหลือ SMEs คือ 1) การเสริมสร้างความเข้มแข็ง SMEs 2) การสร้างผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ในสาขาธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์ และ3) การปรับแผนธุรกิจและเพิ่มความเข้มแข็งสำหรับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ส่วนคำแนะนำสำหรับ SMEs ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตอนนี้ SMEs ควร 1)พัฒนาเชิงนวัตกรรมทั้งผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต 2) เจาะตลาดความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) 3) สร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic business partnership) 4) แบ่งช่วงการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น Outsources ให้บริษัทอื่นแทนแทนการจ้างแรงงานประจำ 5) พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าระดับบนมากขึ้น และ 6) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยในการบริการจัดการธุรกิจ ทั้งในด้านการจัดการสินค้า คงคลัง ทรัพยากรบุคคล การผลิตและการตลาด