WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

OIEอดม วงศววฒนไชย copyเจาะลึกแรงงานอุตสาหกรรมไทย และความต้องการ 5 ปีข้างหน้า ปี 2558 โต 3%

    นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และแนวโน้มในช่วงต่อไปว่า  เมื่อย้อนไปในปี 2557 ประเทศไทยมีจำนวนกำลังแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ประมาณ 38.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59  ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2547) กำลังแรงงานไทยได้เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.64 ทั้งนี้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราผู้มีงานทำหรือสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2547 มีสัดส่วนผู้มีงานทำต่อกำลังแรงงานคิดเป็นอัตราร้อยละ 97.23 และได้เพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 98.35 ในปี 2557

    ขณะเดียวกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อัตราการว่างงานหรือสัดส่วนผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงาน ก็ได้ปรับตัวลดลง จากอัตราร้อยละ 2.07 เป็นร้อยละ 0.95 สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ตลาดแรงงานของไทยปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในปัจจุบัน พบว่าตลาดแรงงานไทยในปี 2557 ได้เริ่มประสบปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.17 เมื่อเทียบกับปี 2556 ขณะเดียวกันก็มีจำนวนผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 2.18 เมื่อเทียบกับปี 2556 และจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีการขยายตัวทำให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น

    สำหรับ ในภาคอุตสาหกรรม ในภาพรวมมองว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วมีจำนวนผู้ว่างงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจ้างงานแรงงานต่างชาติภายในประเทศเพิ่มขึ้น ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงโครงสร้างและค่านิยมการศึกษาของไทยที่ไม่ตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคนไทยนิยมเรียนสูงขึ้น หากพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานแบ่งตามระดับการศึกษา ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้น กำลังแรงงานไทยนิยมเรียนสูงขึ้นในระดับปริญญาตรีขึ้นไป แต่กลับมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กำลังแรงงานในระดับ ปวช.-ปวส. มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้ขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม เป็นเพราะว่าค่าจ้างภาคบริการดึงดูดแรงงานมากกว่า ซึ่งในปี 2556 ภาคบริการมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 17,623 บาท/เดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 10,968 บาท/เดือน อีกทั้งประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) และในปี 2573 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)

    ปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ประมาณ  6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน โดยแรงงานจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ประมาณ 957,998 คน รองลงมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง จำนวน 571,607 คน และ 519,220 คน ตามลำดับ

    ทั้งนี้ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝ่ายผลิต ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งยังขาดอยู่ประมาณ 34,717 คน อุตสาหกรรมที่ขาดแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์จากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 6,482 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายรวมทั้งการตกแต่งและย้อมสีขนสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ยังขาดแรงงานฝ่ายผลิตอยู่ประมาณ 6,421 คน และ 4,538 คน ตามลำดับ โดยแรงงานที่ยังขาดแคลนส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ

   สำหรับ ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 290,604 คน เมื่อพิจารณาด้านอายุของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทย จะพบว่า แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ

    สำหรับ ปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน พบว่ามีการโยกย้ายแรงงานไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมโยกย้ายไปสู่ภาคบริการ อีกทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น แรงงานลาออก เพื่อไปเรียนต่อ หรือทำกิจการส่วนตัว แรงงานไม่มีความอดทน แรงงานไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แรงงานไม่มีความพร้อมในการทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ และปัญหาการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น

     ด้านแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการนั้น สามารถสรุปได้ว่า ปัญหาค่าจ้างแรงงานสูง แก้ไขโดยปรับลดโอทีในการจ้างงาน และจัดงานให้รองรับกับเวลางานที่กำหนด จ้างงานแรงงานต่างด้าวมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการจ้างงาน ประกอบกับควบคุมรายจ่าย  และลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ปัญหาแรงงานย้ายไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แก้ไขโดยการจ้างแรงงานเพิ่มทดแทนส่วนที่ลาออก ส่งเสริมสวัสดิการ เช่น ประกัน เบี้ยขยันต่างๆ และเน้นหาแรงงานที่มีความรับผิดชอบ ไม่เน้นแรงงานวัยรุ่น  ส่วนปัญหาแรงงานย้ายไปภาคบริการ แก้ไขโดยเปิดรับสมัครพนักงานเพื่อทดแทนส่วนที่ลาออกอย่างต่อเนื่อง และปัญหาแรงงานไม่มีฝีมือ แก้ไขโดยการจัดอบรม เพื่อเสริมสร้างทักษะการทำงาน และเชื่อมโยงกับทางมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยตรงเปิดรับพนักงานที่เกี่ยวกับสายวิชชาชีพเพิ่มมากขึ้น

     สำหรับ การแก้ปัญหาระยะยาว เนื่องจากปัญหาแรงงานเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้าง การแก้ปัญหาข้างต้นเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ในภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้นเพื่อแก้และบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาคุณภาพแรงงานและปัญหาแรงงานมีคุณสมบัติไม่ตรงต้องการ 16 กรกฎาคม 2558

    สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

สศอ. แนะ SMEs เร่งปรับปรุงการผลิต ใช้'ระบบผลิตแบบอัตโนมัติ' หนีต้นทุนค่าแรงสูง

      สศอ. เร่งระดมสมอง เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมและ SMEs ไทย ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตมาใช้ระบบแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ลดต้นทุน รับมือกับปัญหาแรงงานทั้งด้านต้นทุนและการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

   นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องสูญเสียสถานภาพในการแข่งขัน ทั้งการแข่งขันในประเทศ และต่างประเทศ

     สศอ. จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วย “ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Manufacturing Automation System)” ในปีงบประมาณ 2558 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่ยังอาศัยเครื่องจักรกลแบบธรรมดา  มาเป็นเครื่องจักรกลที่ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์ หรือระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ เข้าสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถรับมือกับปัญหาด้านแรงงานทั้งด้านต้นทุนแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

    ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น จึงควรมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลิตภาพของแรงงาน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสายพานการผลิต การบริหารจัดการ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ตลอดจนฝึกอบรมทักษะของแรงงานให้มีความหลากหลาย และสามารถใช้เทคโนโลยีในระดับสูงได้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับระบบและเครื่องจักรการผลิตแบบสมัยใหม่

    “ระบบอัตโนมัติเข้ามีบทบาทในระบบการผลิตของสถานประกอบการขนาดใหญ่ ในอุตสาหกรรมของประเทศมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และผู้ประกอบการ SMEs เริ่มตื่นตัวและนำระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ กลยุทธ์การเลือกใช้หรือจัดหาระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ให้เหมาะสมกับระบวนการผลิตและความจำเป็นของสถานประกอบการ

    การตัดสินใจลงทุนนำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงานของ SMEs จำเป็นต้องพิจารณาความสามารถ ประสิทธิภาพและคุณสมบัติของเครื่องจักรว่า มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนและคลอบคลุมงานที่ต้องการด้วย” ผู้อำนวยการ สศอ.

     เมื่อเร็วๆ นี้ สศอ. จึงร่วมกับ สถาบันวิทยาการ-หุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดการสัมมนา “ระบบการผลิตอัตโนมัติ ทางรอดของอุตสาหกรรมไทย” ภายใต้โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อระดมสมองหาแนวทางการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ สินค้ามีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต เป็นการเสริมสร้างอุตสาหกรรมไทยให้พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้นต่อไป

                        สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

สศอ. ชู 6 โมเดลพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ตั้ง Fashion Idea Space เชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์แฟชั่น ดัน Thai Brand แข่งตลาดโลก

                สศอ. ชี้ทิศทางอนาคตอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีโอกาสสูง แต่จำเป็นต้องสร้างการเชื่อมโยง 3 กลุ่ม (กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ) ผนึกเป็นกลุ่มเครือข่าย Fashion Cluster ใน 6 แบบอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความแกร่งทางธุรกิจ  แนะผู้นำวงการแฟชั่นและอุตสาหกรรมไทยร่วมกับภาครัฐจัดตั้ง “Fashion Idea Space” เป็นพื้นที่ทางความคิดเชื่อมโยงคลัสเตอร์และบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์สู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ปูทางสู่การสร้างตลาด Thai Brand ในระดับภูมิภาคและระดับโลกเต็มรูปแบบ ระบุการนำความคิดสร้างสรรค์มาผสานกับเทคโนโลยีเป็นทางออกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้มีเสถียรภาพในระยะต่อไป ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาการรับจ้างผลิตเพื่อส่งออก สร้างความสามารถการแข่งขันในอนาคต

                นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า  สศอ.ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสู่อนาคตและทางออกของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่ประกอบด้วย กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มรองเท้าและเครื่องหนัง  และกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ แล้วเห็นว่า การเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในภาวะขาดแคลนแรงงาน และสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าอาเชียนได้อย่างเต็มที่ ไทยจะต้องพัฒนาการรวมกลุ่มเครือข่ายของทั้ง 3 อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย (Fashion Cluster) เพื่อปฏิรูปรูปแบบธุรกิจที่เน้นความร่วมมือกัน เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า พัฒนาตลาดอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ให้เป็นแรงดึงดูดการค้าจากทั่วโลกผ่านประเทศไทย เตรียมอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้มีการสร้างสรรค์ครบวงจร มุ่งสู่การเป็น Trading Nation ตามแนวนโยบายของรัฐ

                การรวมกลุ่มเครือข่ายที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมในอนาคตนั้น ไม่จำกัดกรอบแต่เพียงรวม  กลุ่มการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างเครือข่ายกับธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านการค้าปลีก      ค้าส่ง การตลาด การท่องเที่ยวจนถึงธุรกิจออกแบบและภาคบริการที่เกี่ยวข้อง แนะนำแนวทางการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งได้ 6 รูปแบบ ตามความเหมาะสมกับตลาดเป้าหมายและระดับของแฟชั่น ได้แก่

                1) การรวมกลุ่มด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ (Design and Creative Cluster) เน้นสร้าง Value Creation ผ่านงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์

                2) การรวมกลุ่มด้านการสร้างแบรนด์ (Branding Cluster) เน้นสร้างความเชื่อมั่น ความไว้ใจและสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ให้กับลูกค้า

                3) การรวมกลุ่มด้านการตลาด (Marketing Cluster) เน้นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความหลากหลาย พัฒนาพื้นที่ตลาด ขยายส่วนแบ่งการตลาด ลดต้นทุนทางการตลาด เสริมสร้างความชัดเจนของตำแหน่งทางการตลาด และการลดต้นทุน  โลจิสติกส์

                4) การรวมกลุ่มด้านการผลิต (Production Cluster) เน้นบริหารจัดการความเสี่ยง บริหารต้นทุนร่วมกันแบบ lean supply chain สร้างข้อได้เปรียบของการผลิตที่ตอบสนองตลาดได้รวดเร็ว

                5) การรวมกลุ่มด้านวิจัยและพัฒนา (R&D Cluster) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันระยะยาว พัฒนาทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมกระบวนการ (Product & Process Innovation) ยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และ

                6) การรวมกลุ่มด้านการบริการ (Service Cluster) เน้นสร้างประสิทธิภาพของระบบการตอบสนองตลาด เชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ การเงิน ภาคการผลิต ภาคบริการและภาครัฐ พร้อมตอบสนองตลาดโลกได้ครบทุกมิติ

       ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวอีกว่า สศอ. ได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาและเป้าหมายของแผนพัฒนา การรวมกลุ่มเครือข่ายดังกล่าวเป็น 3 ระยะ โดย 5 ปีแรก จะมุ่งเน้นการเป็นศูนย์รวมการจัดการวัตถุดิบในระดับภูมิภาค โดยส่งเสริมคลัสเตอร์การออกแบบ และการผลิตเพื่อลดต้นทุนทั้งระบบ เพิ่มความรวดเร็วในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ระยะ 10 ปี มุ่งการสร้างเครือข่ายเพื่อการตลาดและ R&D ให้สมบูรณ์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการออกแบบสินค้าแฟชั่น รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ระยะยาว 20 ปี มุ่งเน้นพัฒนาแบรนด์ไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก เน้นการสร้างคุณค่า เชิงพื้นที่ ให้การออกแบบแฟชั่นไทยเป็นมาตรฐานอ้างอิง ได้รับความน่าเชื่อถือในระดับสากล

       “ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออกมากกว่าปีละ 500,000 ล้านบาท การบริโภคในประเทศกว่า 320,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน ถึงแม้ว่า  อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยจะมีการชะลอตัว  แต่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยลักษณะของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันยังขาดการรวมตัวอย่างมีระบบ อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวกันเพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องมีแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม

      โดยพัฒนาคลัสเตอร์ให้เหมาะสมกับบริบทและเป้าหมายร่วมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะทำให้มีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและสร้างแบรนด์ไทยก้าวสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นนำของโลกได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สศอ.  กล่าว

    ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์เชิงสร้างสรรค์อย่างครบวงจรในทุกมิติและรองรับการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ควรมีการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถสนับสนุนทั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาในเชิงวิศวกรรมไปควบคู่กัน จึงเสนอให้จัดตั้ง “พื้นที่ทางความคิด (Fashion Idea Space)” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์สู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ลดต้นทุนและความเสี่ยงด้านออกแบบ และ R&D ของ SMEs ช่วยผลักดันการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ในรูปแบบ Design and Development Cluster ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะประกอบด้วย เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ  เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อทำต้นแบบ ที่ทันสมัยพร้อมผู้ชำนาญการ ศูนย์ข้อมูลแนวโน้มแฟชั่น ห้องตัวอย่างวัตถุดิบที่หลากหลายและทันสมัย ศูนย์พัฒนาและทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ห้องจัดแสดง ห้องปฏิบัติการอื่นๆ ที่จำเป็น และมีระบบการจัดการแบบมืออาชีพ มีเป้าหมายในการปรับศักยภาพด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ประกอบการแฟชั่น ให้เทียบเท่าสากล และสามารถเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของโลกได้

    ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์มาแล้วในหลายรูปแบบ แต่สำหรับการส่งเสริมกลุ่ม คลัสเตอร์แฟชั่นซึ่งมีห่วงโซ่มูลค่าที่ซับซ้อน และมีผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการวางระบบเพื่อรองรับการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง เน้นกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเป้าหมายและได้รับประโยชน์ร่วมกัน กำหนดแนวทางการรวมกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสำหรับสมาชิกทุกรายในคลัสเตอร์ รัฐอาจจะส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ดังที่ได้กล่าวแล้วเพื่อให้การรวมกลุ่มเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ยังต้องมีมาตรการร่วมระหว่างรัฐและเอกชนเพื่อให้การบริหารจัดการกลุ่มมีความยั่งยืน เช่น การพัฒนา Cluster Development Agent การจัดหาข้อมูลและจัดการองค์ความรู้ การวางแนวทางบริหารจัดการกลุ่ม โดยส่งเสริมให้แต่ละคลัสเตอร์มีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีทิศทางการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน

    “อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันในการสนับสนุนการดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณได้อย่างต่อเนื่องตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยตั้ง Fashion Idea Space เชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์แฟชั่น พร้อมสามารถดัน Thai Brand แข่งตลาดโลก คาดว่า จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 3-4 จากมูลค่าการส่งออกและการบริโภคทั้งภายในประเทศและอาเซียน”ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว

         สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

สศอ.ชี้ทิศทางอุตสาหกรรมไทยปี 2558 โต 3%

      สศอ.ชี้ทิศทางอุตสาหกรรมไทย ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมปีนี้  ยังคงอัตราการเติบโตในเกณฑ์ 2 ถึง 3%  เป็นผลจากปัจจัยบวกยังมีแรงหนุนดี แต่ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด

   นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากที่ในปี 2558 ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาในหลายๆ ด้านทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ เช่น ปัญหาการส่งออกที่หดตัว ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน และราคาน้ำมันที่ผันผวน เป็นต้น อย่างไรก็ตามคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมในปี 2558 ยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2 ถึง 3  โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การลงทุนที่ขยายตัวสูงขึ้นจากการเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน การเร่งการใช้จ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ การเริ่มกลับมาขยายตัวของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในตลาดต่างประเทศ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ ลดแรงกดดันด้านราคาและเพิ่มอำนาจซื้อ

     สศอ. ยังคงประมาณการการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมตามที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี ล่าสุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมไตรมาสแรกอยู่ที่อัตราร้อยละ 2.3  ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังอยู่ในกรอบที่ประมาณการไว้  และคาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3 ถึง 4 โดยการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเกิดจากการขยายตัวในอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์เคมี ปิโตรเลียม  ผลิตภัณฑ์แก้ว ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง และเซรามิค เหล็ก และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม  ส่วนการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ มีดังนี้

    - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 0.86 ถึง 1.61 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และสถานการณ์บ้านเมืองที่สงบ ทำให้มีการบริโภคและท่องเที่ยวมากขึ้น แต่มีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ การผลิตกุ้ง ว่าจะสามารถฟื้นตัวจากโรคกุ้งตายด่วนได้หรือไม่ และการพิจารณาปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงจะส่งผลต่อการระงับ/ลดระดับการค้าของไทยจาก EU และสหรัฐฯ

   - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.48 ถึง 2.34 จากตลาดส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญ  เนื่องจากการ Allocate การผลิตจากบริษัทแม่ แต่สำหรับตลาดภายในประเทศ อาจเติบโตจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย

     - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.67 ถึง 3.52 จากแนวโน้มการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ประมาณร้อยละ 3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับตลาดในประเทศ ค่อนข้างทรงตัวตามกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

    - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมี คาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.39 ถึง 3.64  จากความชัดเจนของการลงทุนในภาครัฐ และผลการเร่งรัดอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ซึ่งคาดว่า จะเริ่มมีการดำเนินการโครงการในปี 2558

    - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.71 ถึง 3.18 จากต้นทุนทางด้านพลังงานที่ลดต่ำลงทำให้มีความต้องการใช้มากขึ้น รวมถึงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนมีคาดว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้น

    - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แก้ว ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง และเซรามิคคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 3.06 ถึง 4.67 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซรามิค ซีเมนต์ คอนกรีต กระเบื้อง ขยายตัวไปในทิศทางเดียวกัน

     - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมเหล็กคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 4.37 ถึง 7.26 จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

    - ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าขยายตัวได้ร้อยละ 1.12 ถึง 2.46 จากการขยายตัวของความต้องการสินค้าและวัตถุดิบของประเทศคู่ค้า สำหรับตลาดภายในประเทศขยายตัวตามชุดกีฬาที่ผลิตจากผ้าไนลอนเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ต้องระวัง คือการที่จีนและไต้หวันเข้าไปลงทุนสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนาม คาดว่าเมื่อมีการผลิตเต็มรูปแบบ ความต้องการเส้นด้าย  และผ้าผืนจากไทยจะลดลง เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าจากเวียดนามจะถูกกว่าไทยจากต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า รวมทั้งยังได้สิทธิ GSP จาก EU

     อย่างไรก็ตามยังมีด้านปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2558 ที่ต้องเฝ้าระมัดระวัง ได้แก่

    - ความไม่แน่นอนในการพื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2558 เนื่องจากแม้คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มพื้นตัว แต่เศรษฐกิจของจีน และรัสเซีย ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำและเศรษฐกิจอาเซียนที่ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปี 2557

   - การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยและประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และจีนในปีช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ซึ่งการส่งออกของไทยจะดีขึ้นหรือไม่ขึ้นกับผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ ว่าเห็นผลมาน้อยแค่ไหน

     - อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯของไทยมีในปี 2558 มีทิศทางที่ผันผวน (แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าในเดือนพฤษภาคม) แต่คงระดับอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่หลายๆ ประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ไทยส่งออกสินค้าได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนพฤษภาคม 2558 อัตราแลกเปลี่ยนของไทยเริ่มอ่อนค่ามาอยู่ในระดับ 33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในครึ่งปีหลังยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม จะทำให้สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2558 ดีขึ้น

   - ทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มผันผวนในช่วงต้นปี 2558 หลังจากที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2557  การเติบโตของหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของครัวเรือน ดัชนี ราคาผู้บริโภคของไทยและประเทศคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเงินฝืด และการส่งออกที่หดตัว เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

       สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!