- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 13 September 2015 15:38
- Hits: 3570
ส.โลหะฯจี้สมอ.ยกเลิกแผนประกาศ
แนวหน้า : ส.โลหะฯจี้สมอ.ยกเลิกแผนประกาศ มาตรฐานเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ
นายวิสิทธิ์ กิตติวรรธนกุล อุปนายกสมาคมโลหะไทย เปิดเผยภายหลังการเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ว่า สมาคมได้เข้ามายื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาแก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ที่เพิ่มการจำกัดปริมาณส่วนประกอบของธาตุเจือ 7 ประเภท คือ โบรอน, ไททาเนียม, โมลิดีนัม, โครเมียม, นิคเกิล, คอปเปอร์ และซิลิกอน หรือห้ามไม่ให้มีธาตุเหล่านี้สูงเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นการกำหนดมาตรฐานที่ไม่มีเหตุผลทางวิชาการ เป็นการสร้างอุปสรรคให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ มาตรฐานดังกล่าว ยังขัดต่อมาตรฐานสากล เช่น JIS (Japanese Industrial Standard) มาตรฐานของญี่ปุ่น และ ASTM (American Society for Testing and Material) สมาคมเพื่อการทดสอบและวัสดุแห่งอเมริกา ที่อนุญาตให้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำบางชั้นคุณภาพ สามารถเจือธาตุบางประเภทได้ตามความเหมาะสมของการใช้งาน รวมทั้งยังเป็นการลดประสิทธิภาพ และความสามารถในการนำไปใช้งานของสินค้าเหล็กลวด เช่น การรีดลดขนาด การเชื่อม เป็นต้น และยังเป็นสิทธิของผู้ใช้ที่สามารถเลือกใช้วัตถุดิบใดๆ ตามความเหมาะสมของสินค้าและกระบวนการผลิต ดังนั้น สมาคมจึงขอเรียกร้องให้ สมอ.ได้พิจารณาทบทวนแก้ไขมาตรฐานดังกล่าว
“สมอ.ไม่ควรจะมาจำกัดกฎเกณฑ์ปลีกย่อยในการเจืออัลลอยด์ในเหล็กลวด เพราะผู้ผลิตแร่ละลายก็มีการเจืออัลลอยด์เพื่อปรับคุณสมบัติเหล็กลวดให้เหมาะกับอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง ซึ่งหากมาตรฐานใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบเหล็กลวดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการต้องใช้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่ผลิตจากโรงเหล็กภายในประเทศไม่กี่ราย” นายวิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับ ความคืบหน้าในกรณีการเรียกร้องให้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการยกเลิกแผนที่จะประกาศเซอร์ชาร์ตเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่มในอัตรา 35% นั้น ในเรื่องนี้กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ ต่างก็ร่วมมือคัดค้านกันอย่างเต็มที่ เพราะเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่ผลิตภายในประเทศ ยังมีมาตรฐานต่ำกว่าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหากบีบให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เหล็กลวดคาร์บอนต่ำภายในประเทศ หากเกิดความผิดพลาดขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวมทั้งประเทศได้
ทั้งนี้ ล่าสุดบีโอไอก็ได้นำเรื่องนี้กลับไปทบทวนในการกำหนดให้อุตสาหกรรมผลิตนอต สกรู และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะได้รับการยกเว้นไม่เก็บภาษีเซอร์ชาร์จ ซึ่งในเรื่องนี้กลุ่มผู้ประกอบการจะติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป