WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Gสมคด จาตศรพทกษชง ครม.อุ้ม SMEs 8 ก.ย. จับตารัฐบาลอนุมัติมาตรการช่วยเอสเอ็มอีแสน ล.

    บ้านเมือง : นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ว่า จะประกอบด้วย 2 เฟส โดยเฟสแรก คือการทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจะให้ธนาคารออมสินตั้งวงเงินปล่อยสินเชื่อ และจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในวันที่ 8 ก.ย.นี้ แต่จะใช้งบประมาณเท่าไรนั้นขอให้รอผลจากคณะรัฐมนตรี

     ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เอสเอ็มอีสนใจ หลังจากที่ผ่านมาให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันความเสี่ยง ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก สำหรับเฟสที่ 2 คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานช่วยเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งในอนาคต ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

      นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เรียกหารือประเด็นการจัดทำแผน บูรณาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งแผนช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นมาตรการภาษีดำเนินการจัดทำมาตรการด้านการช่วยเหลือทางการเงินและภาษีโดยกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการ ซึ่งการจัดทำจะเสร็จและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อน

    ส่วนเฟส 2 เป็นแผนบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรการช่วย เหลือเอสเอ็มอี สำหรับระยะสั้นจะเน้นดูแลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วให้เข้มแข็งผ่านมาตรการต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมกับมาตรการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้ง 2 ส่วนนี้จะเดินหน้ามาตรการควบคู่กันไป โดยแผนบูรณาการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเฟส 2 จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงต่อไป โดยจะเร่งดำเนินการจัดทำเร็วที่สุด ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะประชุมร่วมกัน เพื่อให้ได้มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่จะบรรจุไว้ในงบประมาณปี 2559 ที่เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้

     แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มาตรการที่สองที่ต่อเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ ครม.เพิ่งอนุมัติไปเมื่อวังอาคารที่ผ่านมานี้นั้นคือมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ขณะที่มียอดขายที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

    ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่จะนำเสนอ ครม.ในวันอังคารหน้านี้จะมีสองส่วน ส่วนแรกเป็น Soft loan ที่ให้ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 2% และให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้า SMEs ของตนเองในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้หารือกับสมาคมธนาคารพาณิชย์แล้วว่าขอให้ธนาคารพาณิชย์ให้ความร่วมมือในโครงการนี้

     แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ลักษณะการปล่อยกู้ดังกล่าวที่เป็น two step loan นั้น เป็นแนวทางในการนำสินเชื่อให้เข้าถึง SMEs โดยที่รัฐมีต้นทุนของโครงการนี้ต่ำ โดยรัฐจะเข้าไปชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนของธนาคารออมสินในอัตรา 2% ซึ่งตกปีละ 2 พันล้านบาท สำหรับวงเงินกู้ 1 แสนล้านบาท ซึ่งลักษณะการให้กู้แบบ Two step loan นั้น มีข้อดีที่ทำให้การกระจายสินเชื่อทำได้รวดเร็วผ่านสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องเป็นผู้กลั่นกรองลูกค้าที่จะขอกู้เอง

    ปัจจุบัน SME bank ก็มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Policy loan ที่ปล่อยให้ลูกค้าของธนาคารในอัตราดอกเบี้ย 4% ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลังชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารในอัตรา 3%

    นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลมีนโยบายให้ออมสินจัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) วงเงิน 1 แสนล้านบาทให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับ SMEs ทั่วประเทศ โดยจะมีการนำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 8 ก.ย.นี้ รายละเอียดและเงื่อนไขของ Soft loan รวมถึงการชดเชยของรัฐบาลเป็นอย่างไรนั้นยังไม่ทราบ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้จัดทำรายละเอียด ซึ่งต้องรอให้รัฐบาลออกมาเป็นมติ ครม.ก่อน

รมว.คลัง เตรียมออกมาตรการช่วย SMEs-แก้ปัญหารายอุตสาหกรรม

                นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาและนิทรรศการ"ศาสตราจารย์สังเวียนฟอรั่ม 2015"ว่า เตรียมหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาใน 1-2 สัปดาห์นี้ และช่วยแก้ปัญหากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาประมาณ 2-3 กลุ่ม เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

                ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวคิดในการดูแลเศรษฐกิจ 3 ประการ คือ ประการแรกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งล่าสุด ครม.ได้อนุมัติแพ็คเกจช่วยเหลือไปแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในเวลา 3 เดือน

                ประการที่สอง คือ การสร้างระบบเศรษฐกิจไทยให้เกิดความสมดุลทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยให้ภาคเอกชนเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากใกล้ชิดข้อมูลและมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ ขณะที่รัฐบาลจะมีหน้าที่คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดี เช่น การให้สิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

                และประการที่สาม กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะร่วมกันผลักดันให้มีการใช้ระบบชำระเงินด้วยอิเลคทรอนิกส์ e-payment เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานในอนาคต รวมทั้งผลักดันให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางจัดทำระบบบัญชีเดียว ซึ่งต้องหามาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นเพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นและมีงบประมาณเพียงพอสำหรับใช้ในการลงทุน

                ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า เม็ดเงินตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะจัดสรรลงไปยังกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในส่วนที่ธนาคารออมสินรับผิดชอบนั้น คาดว่าก้อนแรกประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทจะเข้าสู่ระบบได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ และภายใน 3 เดือนจะทยอยเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะดูแลสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ให้อยู่ในระดับประมาณ 1% ในช่วง 7 ปี

                        อินโฟเควสท์

กระทรวงอุตฯชง'รองฯสมคิด' เสนอมาตรการช่วยเอสเอ็มอี

     แนวหน้า : นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงอุตฯ ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือฟูวิสาหกิจขนาดกลางและย่อ(เอสเอ็มอี)ที่จะเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.58) พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะสรุปเป็นแพคเกจในการช่วยดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 ก.ย.นี้ โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเบื้องต้นจะเสนอแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาประมาณ 10,000 ราย โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(สสว.)

     สำหรับ แผนเบื้องต้นในแพคเกจช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาลจะประกอบด้วย 4 ด้านได้แก่ การเงิน การคลัง การเพิ่มรายได้ และมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยในส่วนของด้านการเงินกรอบใหญ่จะแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1. สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูจากสถาบันการเงินวงเงิน 1 แสนล้านบาท 2.กองทุนพลิกฟื้นSMEsที่ประสบปัญหาทางการเงิน 1,000 ล้านบาท และ3.กองทุนสตาร์ทอัพนักรบใหม่ วงเงิน 1,500 ล้านบาทซึ่งจะเป็นการพัฒนาเอสเอ็มอีใหม่ๆ

   ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงอุตฯเสนอช่วยเหลือเอสเอ็มอี 10,000 รายโดยให้สสว.คัดเลือกและแยกกลุ่มเอสเอ็มอีดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1 เอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางการเงินค่อนข้างมากหรือค่อนข้างวิกฤต 10% ก็จะต้องช่วยเหลือระยะด่วนในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางด้านการเงินซึ่งจะมีการดึงเงินมาจากสสว.ที่เดิมได้รับงบประมาณมาดำเนินกองทุนตั้งตัวได้ 1,000 ล้านบาทโดยจะขอครม.อนุมัติโยกงบมาตั้งเป็นกองทุนพลิกฟื้น เอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาการเงิน  2.เอสเอ็มอีที่มีปัญหาไม่มาก 40% ก็จะต้องเยียวยา 3.เอสเอ็มอี 50% มีปัญหาไม่มากแต่ต้องการพัฒนา

      สำหรับ การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม(Cluster) 7 กลุ่มที่จะต้องเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีและธุรกิจท้องถิ่น ฯลฯ นั้นจะมีการเสนอให้นายสมคิดพิจารณาในสัปดาห์ต่อไปโดยจะมองการพัฒนาพื้นที่ของแต่ละอุตสาหกรรม ส่วนงานเร่งด่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ การปรับโครงสร้างอ้อย การแก้ไขปัญหาผังเมืองที่มีผลกระทบต่อการขยายโรงงาน ศูนย์ทดสอบรถยนต์ การใช้งบประมาณขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท ระยะกลางได้แก่ การกำจัดกากอุตสาหกรรม น้ำเสีย

รมว.อุตฯ เตรียมหารือสภาพัฒน์ หาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี พร้อมจัดสรรพื้นที่ทำเขต ศก.พิเศษเพิ่ม คาดแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

      นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอมเอ็มอี ดังนั้นภาครัฐจึงต้องหามาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี ซึ่งถือว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยกระทรวงฯ จะเร่งจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงจัดสรรพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของแต่ละอุตสาหกรรม นอกเหนือจากเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ ซึ่งจะทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สศช.โดยคาดว่าแผนงานช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะแล้วสร็จภายใน 1 เดือน

      "มาตรการที่จะช่วยเหลือ เช่น มาตรการทางภาษี การสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้าลงทุน"นางอรรชกา กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!