- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 04 September 2015 21:47
- Hits: 12859
อรรชกา'เร่งโครงการช่วยเอสเอ็มอี ลงนามร่วมญี่ปุ่นพัฒนาอุตฯไทย
แนวหน้า : นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดทำแผนบูรณาการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมทำแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยระยะสั้นจะเน้นดูแลกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเก่าให้เข้มแข็ง และสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่ควบคู่กัน
โดย แผนช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนจะเป็นเรื่องของกระทรวงการคลัง ในการสนับสนุนด้านสินเชื่อและลดภาษี ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน หลังจากนั้นจะนำเสนอแผนพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะต้องบูรณาการระหว่างหน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอีทั้งหมด เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, พาณิชย์, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอื่นๆ โดยโครงการที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั้งหมดจะต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปบรรจุไว้ในงบประมาณของปี 2559 ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค.นี้
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับผู้ว่าราชการจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกิจการประเภทเอสเอ็มอี ภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ดังนี้ 1.เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน 2.สนับสนุนเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศสู่การเป็นสากล และ 3.ดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ ร่วมกัน เช่น การเชื่อมคลัสเตอร์อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการจาก จ.ชิบะ เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 21 ราย และมีการก่อสร้างโรงงานแล้ว 13 โรง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและบริการ และหลังจากนี้คาดว่าจะมีนักลงทุนทยอยเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 50 ราย
นายเคนซาคุ โมริตะ ผู้ว่าราชการจังหวัดชิบะ กล่าวว่า จ.ชิบะ ถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น มีมูลค่าผลผลิตด้านอุตสาหกรรมในปี 2555 สูงกว่า 12 ล้านล้านเยน ถือเป็นอันดับ 6 ของประเทศญี่ปุ่น มีศักยภาพด้านปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เหล็กกล้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และแปรรูปอาหาร โดยจะเข้ามาสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย นอกจากนี้จะมีการเชิญชวนประชาสัมพันธ์ชาว จ.ชิบะให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มด้วย เพราะเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
ขณะที่ นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จะยังคงเน้นในการขยายความร่วมมือไปยังจังหวัด และเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่นต่อไป แต่จะเน้นในเมืองที่มีจุดเด่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น โดยหลังจากการลงนามในครั้งนี้จะทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงนามร่วมมือกับหน่วยงานจากประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น 15 ราย แบ่งเป็น ระดับจังหวัดหรือเมือง 12 จังหวัด 2 หน่วยงาน และ 1 หน่วยงานรัฐบาลกลาง ซึ่งที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้มีโต๊ะญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพมากขึ้น