- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 22 August 2015 08:51
- Hits: 5786
สศอ.แนะรัฐหนุนผู้ประกอบการกุ้งแปรรูปขยายฐานลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ. เสนอแนะยุทธศาสตร์การเป็น Trading Nation เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปไทยในอนาคต ได้ข้อสรุปการศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาดังนี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มตั้งแต่การผลิตต้นน้ำ ทั้งในเรื่องการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งที่แข็งแรงและให้ผลผลิตสูง พัฒนาสายพันธุ์กุ้งที่แข็งแรง ทนทานต่อโรค มีระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนทำการผลิตเพื่อจำหน่าย มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานลูกกุ้งตั้งแต่ฟาร์มเพาะฟักและฟาร์มอนุบาล มีขบวนการพัฒนาวิธีการเลี้ยงกุ้งเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และป้องกันโรคกุ้งอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยการใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และอาศัยการนำเข้ากุ้งเป็นมาตรการเสริม โดยต้องมีการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า
ในระยะยาวการแก้ปัญหาโดยการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่สามารถขยายการผลิตได้อีกมาก เช่น อินเดีย เวียดนาม อินโดนิเซีย เป็นทางออกที่น่าสนใจในอนาคต ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ได้มีการขยายฐานการผลิตไปประเทศอินโดนิเซียแล้วและค่อนข้างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีบริษัทขนาดรองลงมาเริ่มขยายฐานสินค้าบางสินค้าที่ไม่เหมาะกับการผลิตในไทยเนื่องจากต้นทุนสูง โดยย้ายฐานไปผลิตในประเทศกัมพูชาแล้วส่งกลับมาส่งออกที่ไทยแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศยังติดปัญหาอื่นๆ เช่น การย้ายไปอินเดียจะติดปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อมและสหภาพแรงงานที่มีปัญหามาก การไปตั้งโรงงงานผลิตกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งในประเทศข้างเคียงแล้วส่งมาผลิตเป็นกุ้งเพิ่มมูลค่าในไทย หากทำในระดับบริษัทกับบริษัทอาจจะยาก ภาครัฐจึงต้องเป็นตัวนำ เช่น เช่าที่ในนิคมอุตสาหกรรมพื่อทำกุ้งแช่เย็นและแช่แข็งในประเทศข้างเคียงเป็นการเฉพาะ โดยทำการเจรจาในระดับรัฐบาลกับรัฐบาลให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีความกล้าไปลงทุนมากขึ้น
อีกทั้ง ส่งเสริมให้มีกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง เช่น ระยะสั้นใช้ระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง ระยะกลางเกษตรกรรวมตัวในรูปแบบสหกรณ์เพื่อให้สามารถรวบรวมวัตถุดิบ วางแผนการผลิตของสมาชิกแต่ละราย และกระจายระบบกุ้งออกสู่ตลาดในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อไม่ให้ราคากุ้งตกต่ำในช่วงใดช่วงหนึ่งมากเกินไป อีกทั้งมีการปรับปรุงระบบที่ช่วยสนับสนุนเรื่องเงินทุนหมุนเวียนของผู้ส่งออกและเกษตรกร นอกจากนี้ ภาครัฐอาจพิจารณาเรื่องการเก็บเงินจากผู้ส่งออกกุ้งเป็นเงินกองทุนเพื่อใช้ในการพัฒนาอุสาหกรรมกุ้งในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องการใช้แรงงานมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐจึงต้องมีมาตรการการแก้ไขเรื่องการใช้แรงงานผิดกฏมายอย่างชัดเจน และต้องแสวงหาโอกาสใหม่ๆ เช่น การเจาะตลาดใหม่ การเจรจา FTA เพื่อทดแทนสิทธิพิเศษทางการค้าที่หมดไป
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์กุ้ง เป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาท โดย 85% ของผลผลิตกุ้งทั้งหมดถูกส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นและแช่เข็ง โดยประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และในระยะหลังมานี้ไทยมีความสามารถส่งออกกุ้งแปรรูปมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการส่งออกกุ้งสด กุ้งแช่เย็นแช่แข็งประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ถูกตัดสิทธิจีเอสพีในปี 2557 ถูกฟ้องร้องเรื่องการทุ่มตลาดจากสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกัน รวมถึงปัญหาด้านแรงงานที่สหรัฐฯ ได้ลดอันดับไทยให้อยู่ใน Tier 3 ภาครัฐจึงต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปโดยรวมให้เพิ่มสูงขึ้น
ที่ผ่านมา ศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมกุ้งไทยในตลาดโลก มีความได้เปรียบหรือมีจุดแข็งที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่หลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนิเซีย อินเดีย และเอกวาดอร์ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ คุณภาพของกุ้งไทยเป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพและความปลอดภัย (Food Safty) โดยเฉพาะเรื่องสารตกค้าง มีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีในด้านต่างๆ เช่น การเลี้ยง การพัฒนาสายพันธุ์ เป็นต้น และด้านการตลาดและการแปรรูป ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องของการเพิ่มมูลค่า (value Added) ในผลิตภัณฑ์กุ้ง
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐควรที่จะให้ความสำคัญ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตและส่งออกกุ้งแปรรูป รวมถึงกุ้งเพิ่มมูลค่าให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมาประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกทั้งในด้านปริมาณและมูลค่าของกุ้งแปรรูปสูงกว่ากุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกกุ้งเพิ่มมูลค่าสูงกว่ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,800 ล้านบาท ในอนาคตผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกุ้งแปรรูปไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางถึงใหญ่ ที่มีความสามารถในการหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกและสามารถทำเรื่องการควบคุมคุณภาพ ควรจะต้องมีการสร้าง brand สินค้ากุ้งแปรรูปและกุ้งเพิ่มมูลค่าให้มีเข้มแข็งและมีคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับทั้งในตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปและกุ้งเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นในตลาดโลกได้ต่อไป
อินโฟเควสท์