- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 29 July 2015 08:56
- Hits: 5025
สศอ.ชี้แนวทางลงทุนในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้น ขยายฐานการผลิตแฟชั่นไปต่างแดน
สศอ. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมแฟชั่นใช้แรงงานเข้มข้นในฐานการผลิตต่างแดน เริ่มจากจัดตั้ง one-stop service ปรับปรุงระบบคมนาคม โลจิสติกส์ และสนับสนุนเงินกู้ ชี้ย้ายหรือขยายฐานผลิตไปยังกัมพูชา และ สปป. ลาว เหมาะกับผู้ประกอบการ SMEs มากกว่ารายใหญ่ เพราะแรงงานมีจำกัด แนะตั้งโรงงานในจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งประกอบด้วย สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีและเครื่องประดับ กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการผลิต จากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากประเทศคู่ค้าในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากตลาดสำคัญ โดยลูกค้าเรียกร้องให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ ย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเกิดการปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นวิธีหนึ่งที่พยายามให้เกิดความเชื่อมโยงของเครือข่ายการผลิตด้วยโครงข่ายคมนาคมในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการยกระดับการผลิตในแต่ละขั้นตอนการผลิตในประเทศ ให้มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น โดยผลจากการศึกษาโครงการแสวงหาแนวทางการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) ระยะที่ 2 พบว่า การย้ายหรือขยายฐานการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพื้นที่
โดย สศอ. พบว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีโอกาสที่จะย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากมีความพร้อมด้านเงินทุน และมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า ส่วนขั้นตอนการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มย้ายหรือขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน คือ ขั้นตอนการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ใช้แรงงานจำนวนมาก มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรในระดับที่ไม่สูงนัก เช่น ขั้นตอนการตัด เย็บ และประกอบเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและไม่ใช่สินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อยืด เสื้อโปโล และชุดเครื่องแบบ เป็นต้น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม