- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 25 July 2015 22:07
- Hits: 5924
สศอ. เดินหน้า 'เครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง'เน้นสร้างสรรค์งานวิจัยใช้ได้จริง ต่อยอดในเชิงพาณิชย์สำเร็จ
บ้านเมือง : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดินหน้าสร้าง "เครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา" ปี 2558 ได้ผลงานวิจัยนำร่องที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยที่ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์แล้ว และจะพัฒนาไปสู่การสร้างเครือข่ายนำร่องอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ตระหนักว่าการวิจัยและพัฒนาเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะทำให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้ง "เครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพารา" สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่าง ผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556-2557
ขณะนี้ มีผลงานวิจัยที่สำเร็จในระดับหนึ่งและเป็นงานวิจัยนำร่อง ได้แก่ การวิจัยและพัฒนายางล้อตัน การรักษาคุณภาพเนื้อไม้ยางพารา และ การปรับปรุงคุณภาพยางล้อตันไร้รอยเปื้อน ซึ่งผลงานการปรับปรุงคุณภาพ ยางล้อตันไร้รอยเปื้อน ผู้ประกอบการสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว
แนวทางการดำเนินงานในปี 2558 โดยเครือข่ายฯ ยังคงมีการจัดกิจกรรม การฝึกอบรม การสัมมนาวิชาการ การพัฒนาเว็บไซต์ฐานข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยและ นักวิจัย เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการในภาค อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินการเรื่องการวิจัยและพัฒนาในปีนี้ เครือข่ายฯ จะดำเนินการวิจัยเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจสอบความบกพร่องของเส้นด้ายยางยืดแบบอัตโนมัติ โดยได้จากการสำรวจความต้องการ ด้านการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเส้นด้ายยางยืด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก
กสอ.รุกเศรษฐกิจแดนใต้คึกคัก
บ้านเมือง : นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคใต้นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่น่าจับตามองพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงเดินหน้าทำโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมการผลิตพื้นฐานของภาคใต้ ได้แก่ 1.ยางพาราแปรรูป 2.ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 3.ปาล์มน้ำมัน 4.อาหารแปรรูป และ 5.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผ่านโครงการสนับสนุนต่างๆ อาทิ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง โครงการพัฒนาสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ AEC และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) เป็นต้น
จากนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และรักษาความมั่นคงของประเทศ โดย อ.สะเดา จ.สงขลา ได้ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีความเหมาะสมในหลายด้าน ได้แก่ สามารถเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระดับภูมิภาค เป็นประตูทางใต้ของไทยบนแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ มีช่องทางขนส่งหลักทางถนนและราง เชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการประเภทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 109,749 ราย หรือ 4% ของ SMEs ทั้งประเทศ ซึ่งคาดว่าจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยให้เศรษฐกิจการค้าชายแดนใต้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพร้อมสู่การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างมั่นคงในปี 2559