- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 23 June 2014 22:56
- Hits: 3218
ดาวเคมิคอล หนุนเอสเอ็มอีสู้ศึกเออีซี พัฒนานวัตกรรมลดต้นทุน สร้างอำนาจแข่งขันธุรกิจ
บ้านเมือง : ทีมข่าวเศรษฐกิจ/รายงาน
ก้าวสู่ปีที่ 2 โครงการ ‘ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน’ ของบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย นับว่าเข้าสู่ขั้นประสบความสำเร็จตามแนวคิด ‘เอื้อเฟื้อแบ่งปัน’เนื่องจากวันนี้ภาพขององค์กร ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2555 ต่างขานรับถึงต้นทุนผลิตที่ลดลงควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า ‘อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry)’
จากความสำเร็จสู่การต่อยอดโครงการระยะที่ 2 ซึ่งในปีนี้จะเน้นหนักไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพราะนับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นในฐานะ หัวเรือหลักในการขับเคลื่อนโครงนี้
นายจิรศักดิ์ สิงห์มณีชัย กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ปีที่ 2 จะเป็นเครื่องมือเสริมสร้างการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ SME และหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้หลักการและเทคโนโลยีลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาช่วยลดต้นทุนพลังงาน นวัตกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ มีความพร้อมเป็นผู้นำตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
ดาวเป็นผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งวันนี้ดาวยังคงทำหน้าที่เป็น'ตัวอย่างที่ดี (Role Model)' ให้กับเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยโครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน เริ่มต้นด้วยการพัฒนาแนวคิดและจัดทำ คู่มือการจัดการกระบวนการผลิตและสิ่งแวดล้อมด้วยหลักการลีน (Lean Management for Environment ) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ไทย-สหรัฐ ในการให้ความรู้สร้างความเข้าใจเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและการป้องกันมลพิษที่ยั่งยืนให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชน และสถาบันการศึกษา
"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาดาว เคมิคอล ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายพันธกิจเพื่อความยั่งยืนขององค์กร นอกจากนี้ ดาวยังต้องการขยายแนวคิดและองค์ความรู้ไปสู่เพื่อนร่วมอุตสาหกรรม และร่วมกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน"
และหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมไทย นายขจรพงศ์ ภู่สิทธิกุล ผู้จัดการด้านอาวุโส การพัฒนาด้านการค้า กลุ่มบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเข้าใจรูปแบบการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่พึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย ความรวดเร็วของการติดต่อสื่อสาร และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งธุรกิจสำคัญที่เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีก เป็นธุรกิจที่มีบทบาทต่อการนำผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการต่างๆ จากผู้ผลิตไปถึงตัวผู้บริโภค โดยมีภาคการขนส่งและบรรจุภัณฑ์เป็นตัวเชื่อมโยงในการนำสินค้าเหล่านั้นไปถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็วและคงคุณภาพสินค้าให้ยังใหม่ สด สะอาด ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องปรับตนเองให้ตอบโจทย์เหล่านี้
นอกจากนี้ ในตลาดระดับสากลยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดย นายขจรพงศ์ ได้นำเสนอตัวอย่างการนำเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์มาใช้เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เดิมให้สามารถตอบโจทย์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้
ดาว เคมิคอล ได้นำเสนอ 'แพคเอ็กซเพิร์ท'(PackXpert) เป็นตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าของตนเองให้ตอบโจทย์ตลาดในยุคปัจจุบัน โดย ดาว เคมิคอล ได้ทำงานร่วมกับลูกค้าของตนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง มีความทนทาน ยืดหยุ่น ผสมผสานกับดีไซน์ใหม่ๆ ที่ดึงดูดผู้บริโภค และยังคงรักษาคุณภาพของสินค้าไว้ได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์ด้านการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นบรรจุภัณฑ์สีเขียว ลดพื้นที่ในการจัดเก็บ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน
"ผมเชื่อว่า ในยุคนี้ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง เราอาจจะไม่สามารถที่จะทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเราเองคนเดียวทั้งหมด ดังนั้น การหาพันธมิตรในธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยเราพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป รวมทั้งตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจ จึงเป็น สิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้" นายขจรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย
ความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจนั้น เมื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมสีเขียวแล้ว ขั้นต่อไปของการก้าวเข้าสู่เออีซีจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำใน 10 ประเทศของอาเซียนได้ ซึ่ง ดร.ศิริกุล เลากัยกุล Brand Strategist & Sustainability Advisor The BrandBeing Consultant Co., Ltd ได้ถ่ายทอดความสำคัญของการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในเวทีโลก
จุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือแบรนด์เจ้าของธุรกิจ (Brand Owner) และแบรนด์รับจ้างผลิต (OEM) ซึ่งต้องมีความชัดเจน เนื่องจากการก้าวเข้าสู่วงจรใหญ่ การปรับตัวของเอสเอ็มอีเพื่อเข้าสู่มาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากแบรนด์ไม่แข็งแรงพอก็จะไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกเลือกในสายการผลิตนั้นๆ ดังนั้นเอสเอ็มอีจะต้องมีความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่มาตรฐานต่อไป
ปัจจุบัน โครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน นับว่าเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจอย่างมาก เพราะนอกจากจะถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อม SME ก้าวเข้าสู่เออีซีแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการสร้างแบรนด์ที่จะต้องถูกเลือก เพื่อเมื่อก้าวเข้าสู่เออีซี ตลาดใหญ่ขึ้นจะต้องมีทั้งผู้ที่ได้โอกาสและเสียโอกาส ดังนั้นหากต้องการเป็น Brand Owner จะต้องสร้างความเข้มแข็งธุรกิจ รวมทั้งต้องมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วย
ในขณะที่ภาคเอกชนกำลังตื่นตัวกับการก้าวเข้าสู่เออีซี ฟาก ของกระทรวงพลังงาน ในฐานะแม่บ้านด้านการบริหารพลังงานในประเทศ ต่างขานรับโครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวถึงโครงการนี้ว่า การที่ภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจแล้วยังช่วยลดภาระของประเทศด้วย เพราะการก้าวเข้าสู่ตลาดอาเซียนจะต้องมีต้นทุนผลิตที่ดีจึงจะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้
ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเดินหน้ามาตรการเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดจิตสำนึกด้านการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนของการใช้พลังงานทุกรูปแบบคิดเป็นร้อยละ 18-19
เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ดังนั้น ทุกๆ 100 บาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 19 บาทบวกเข้ามาด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ต้นทุนในส่วนนี้ลดลง
ดังนั้น กระทรวงพลังงานเตรียมเดินหน้าโครงการนำร่อง โดยร่วมกับกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ท เพื่อเริ่มโครงการ Home Automation หรือการลดต้นทุนและการจัดการพลังงานด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Big data โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานประสานไปยังโรงแรมและรีสอร์ทในเกาะสมุย เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เนื่องจากพบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงสร้างเงื่อนไข โดยนำอัตราการใช้พลังงานในระดับต่ำเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน อาทิ หากนักท่องเที่ยวใช้ไฟไม่เกินที่กำหนดก็จะได้รับส่วนลดค่าที่พัก เป็นต้น
หากต้องการมองภาพความสำเร็จของโครงการดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ จำกัด หนึ่งในองค์กรที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวว่า ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการหลายรายเข้าใจผิดว่าการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมทำให้บริษัทต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ก็มีความกังวลเช่นกัน แต่ในทางกลับกันพบว่าต้นทุนการผลิตของบริษัทต่ำลงเรื่อยๆ มีของเสียลดลง รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วย
ปัจจุบันบริษัทอยู่ในฐานะธุรกิจ Zero waste หรือของเสียเหลือศูนย์ เพราะภายหลังจากที่ดาวเป็นที่ปรึกษาแล้ว ดาวได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด เริ่มต้นด้วยการลดต้นทุนการผลิต จนไปถึงด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทำให้บริษัทเรียนรู้วิธีคิดว่าทำอย่างไรเพื่อให้สามารถแข่งขันกับเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
"ตอนนี้สินค้าของไทยส่วนใหญ่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก โดยเฉพาะอาหารไทยที่ยังติด 1 ใน 5 ของโลก ส่วนกะทิสดของไทยก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึงร้อยละ 80 ของโลกเช่นกัน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการของไทยมีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต่างชาติไม่ได้เข้ามาดูคุณภาพสินค้าไทย แต่ดูเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ ที่กำลังให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดว่าการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจเติบโต แต่ควรต้องเป็นการลดต้นทุนหากต้องการจะสู้ในเออีซี ตอนนี้ค่าแรงของประเทศไทยขึ้นมาร้อยละ 40% และต้นทุนวัตถุดิบของไทยก็สู้ต่างประเทศไม่ได้ แต่นวัตกรรมสามารถนำมาสู้ได้ ซึ่งดาวได้สอนการลดต้นทุนด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ ซึ่งผู้บริหารองค์กรต้องเป็นผู้ริเริ่ม และสอนให้คนในองค์กรเข้าใจ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างยั่งยืน"