- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 19 July 2015 17:49
- Hits: 1878
ภาคอุตสาหกรรมขาดแรงงาน สศอ.คาดอีก 5 ปีต้องการ 3 แสนคน
แนวหน้า : นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ว่าในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยมีจำนวนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 6,184,926 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพ 1,102,464 คน และแรงงานฝ่ายผลิต 5,082,462 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด 957,998 คน รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยางและพลาสติก 571,607 คน และอุตสาหกรรมยานยนต์ 519,220 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝ่ายผลิต ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทยก็ขาดแคลนแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าจะนำแรงงานต่างด้าวเข้ามากว่าล้านคนแล้ว ก็ยังขาดแรงงานอยู่ 34,717 คน อุตสาหกรรมที่ขาดแรงงานฝ่ายผลิตมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ ขาดแรงงาน 6,482 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 6,421 คน และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 4,538 คน โดยแรงงานที่ยังขาดแคลนส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทมีฝีมือ
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 3 แสนคน เมื่อพิจารณาด้านอายุของแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยจะพบว่า แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีฝีมือ สะท้อนว่าในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
นายอุดม กล่าวว่า แม้ว่าในภาพรวมประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานของคนไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากคนไทยนิยมเรียนในระดับปริญญาตรี มากกว่าระดับอาชีวศึกษา ที่เป็นกลุ่มที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการสูงสุด ทำให้ผู้ที่จบปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ส่วนแรงงานในระดับ ปวช.-ปวส. มีอัตราการว่างงานน้อยที่สุด นอกจากนี้ ภาคบริการก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดแรงงานออกจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมี่ค่าจ้างสูงกว่า โดยในปี 2556 ภาคบริการมีค่าจ้างเฉลี่ย 17,623 บาท/เดือน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีค่าจ้างเฉลี่ย 10,968 บาท/เดือน
สำหรับ ปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่จะถูกภาคบริการดึงดูดแรงงานเท่านั้น แต่ยังเกิดปัญหาการโยกย้ายแรงงานไปโรงงานอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันมากที่สุด รองลงมา คือปัญหาค่าจ้างแรงงานสูงส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิต แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานภาคอุตสาหกรรมโยกย้ายไปสู่ภาคบริการ อีกทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น แรงงานลาออก เพื่อไปเรียนต่อ หรือทำกิจการส่วนตัว แรงงานไม่มีความอดทน แรงงานไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แรงงานไม่มีความพร้อมในการทำงานไม่คุ้มค่ากับค่าจ้างที่ได้รับ และปัญหาการสื่อสารกับแรงงานต่างด้าว เป็นต้น