- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 19 July 2015 15:07
- Hits: 2200
อุตฯ สรุปพื้นที่กำจัดกากอันตราย ก.ย.
บ้านเมือง : นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนา "แผนแม่บทสำหรับการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยช่วง ปี 2558-2562" ว่า แต่ละปีประเทศไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตรายเพิ่มขึ้นปีละ 470,000 ตัน และกากอุตสาหกรรมไม่อันตรายเพิ่มขึ้นปีละ 8 ล้านตัน จึงมีความจำเป็นต้องเร่งศึกษาหาพื้นที่ที่เหมาะสม รองรับกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นภายใน 20-30 ปีข้างหน้า
สำหรับ ผลการศึกษาระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือ METI ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 และจะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2558 เบื้องต้นพบว่าประเทศไทยควรต้องมีพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมเพิ่ม 3 พื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก โดยกากอุตสาหกรรมอันตราย พบว่าจังหวัดที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรมี 7 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ลำพูน ระยอง ปราจีนบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ส่วนกาก ไม่อันตรายพื้นที่ที่เหมาะสม คือ ลำปาง และระยอง
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลบรรจุประเด็นการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเป็นวาระแห่งชาติ ประกอบกับการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมตามมา ซึ่งจากการประเมินจากแรงม้าเครื่องจักร คาดว่ามีปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตรายประมาณ 3 ล้านตันต่อปี และกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 50 ล้านตันต่อปี รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาและจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า สำหรับรายชื่อ 7 จังหวัดที่ผลการศึกษาออกมานี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป คาดว่าจะสรุปเดือนกันยายนปีนี้
กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการไม่ต่อใบอนุญาตให้โรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกากอุตสาหกรรม เพื่อเป็นมาตรการดึงให้โรงงานทยอยเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี ปัจจุบันไทยมีโรงงานนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องคิดเป็น 7% หรือประมาณ 5,300 โรงงาน จากโรงงานที่มีการแจ้งประกอบกิจการทั้งหมด 68,000 โรงงาน พบว่ากากอันตรายเข้าระบบอย่างถูกต้องประมาณ 1 ล้านตัน จากปริมาณปีละ 3 ล้านตัน ส่วนกากไม่อันตรายเข้าระบบถูกต้องปีละ 13 ล้านตันจากปริมาณกากไม่อันตรายทั้งหมด 50 ล้านตันต่อปี