- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 08 July 2015 13:51
- Hits: 2691
อุตฯเครื่องนุ่งห่มไทยปรับตัว นำเข้าเครื่องจักรทดแทนแรงงานคน
แนวหน้า : นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ว่า อยู่ในช่วงของการปรับตัวขนานใหญ่ หลังจากที่กลุ่มการ์เม้นท์ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมากได้เลือกย้ายฐานการผลิตไปยัง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องค่าแรงในไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทยหันมาเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือเพิ่มมากขึ้น
โดยมีการนำเอาเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาแทนแรงงานคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และมุ่งตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) มากขึ้น ขณะเดียวกันทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งหมด ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างจุดขายดึงดูดบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทยอยู่ที่กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามามากที่สุด อย่างไรก็ตามปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการ ไทยคงจะมองเพียงตลาดในประเทศไม่ได้ เพราะตลาด “สิ่งทออาเซียน” เปิดประตูรอแล้ว ดังนั้นจึงต้องประสานจุดแข็งของกลุ่มผู้ผลิตหรือซัพพลายเชนที่มี ทั้งในระดับต้นน้ำ และกลางน้ำ ส่วนระดับปลายน้ำ ไทยสามารถอาศัยกลุ่ม CLMV เป็นฐานการตัดเย็บได้
โดยไทยจะต้องวางตัวเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหรือ Trading Center ที่เน้นพัฒนา “นวัตกรรม ความคิดและดีไซน์” ซึ่งเป็นจุดแข็งและเป็นความเชี่ยวชาญที่จะช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันได้ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตำแหน่งสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาการออกแบบดีไซน์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเน้นการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
สำหรับ มูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม รวมสิ่งทอ ของไทยในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2558 มีมูลค่ารวม 2,836.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.13% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีมีมูลค่าการส่งออก 3,053.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลัก สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2558 ยังติดลบเกือบทุกตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ยกเว้นในอาเซียน โดยเฉพาะที่จีนและฮ่องกง
นายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอไทย ว่า มีการนำเข้าเครื่องจักรใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทย ที่หันมาพัฒนาคุณภาพสินค้าละเพื่อทดแทนแรงงานคนมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการเตรียมตัวรับการแข่งขันเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเต็มตัว