- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 05 July 2015 08:51
- Hits: 2202
กอน.คาดอ้อยเข้าหีบกว่า 111 ล.ตัน เผยราคาน้ำตาลยังต่ำต่อเนื่องอีก 1-2 ปี
แนวหน้า : นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กองทุนฯ ได้อนุมัติเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรับมือภัยแล้ง 500 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก การขุดเจาะน้ำบาดาล รวมทั้งการวางระบบน้ำหยด เป็นต้น โดยจะปล่อยกู้ไม่เกินรายละ 5 แสนบาท แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้รายละประมาณ 2-3 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยเกษตรกรได้มากกว่า 1 พันราย
นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติวงเงินกู้ เพื่อนำไปซื้อรถตัดอ้อย จำนวน 1.5 พันล้านบาท จำกัดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนในการตัดอ้อย และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยหากเป็นรถตัดอ้อยที่ผลิตภายในประเทศจะมีราคาประมาณคันละ 5 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นรถตัดอ้อยจากต่างประเทศจะมีราคาประมาณคันละ 10 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 150 ราย
"หากชาวไร่อ้อยสนใจเงินกู้รับมือภัยแล้งเกิดเป้าหมาย 500 ล้านบาท ก็จะขยายเพิ่มได้อีกประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งวงเงินกู้นี้จะมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 2% ระยะเวลาผ่อนชำระ 6 ปี โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ผู้แทนชาวไร่อ้อย ผู้แทนโรงงานน้ำตาลทราย และผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นต้น" นายอาทิตย์ กล่าว
ส่วนภาระหนี้สินของกองทุนฯ แบ่งเป็นหนี้เก่าตั้งแต่ปี 2549-2550 กองทุนฯมีภาระจ่ายคืนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีละ 450 ล้านบาท และจะหมดในปี 2563 ส่วนหนี้สินในปี 2557 จำนวน 4.7 พันล้านบาท และหนี้ในปีนี้ล่าสุด 1.6 หมื่นล้านบาท จะชำระคืนทั้งหมดภายใน 18 เดือน หรือเดือนละประมาณ 1 พันล้านบาท โดยกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าที่หักมาจากราคาขายน้ำตาลกิโลกรัมละ 5 บาท จะมีเงินเข้ากองทุนฯประมาณ 1 พันล้านบาท/เดือน ซึ่งแม้ว่าจะนำเงินจากกองทุนฯไปช่วยเหลือเกษตรกร 2 พันล้านบาท แต่จะรักษาระดับเงินทุนหมุนเวียนให้ได้ 4-5 พันล้านบาท
ขณะเดียวกัน วันนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลยังได้เตรียมเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย ตันละ 160 บาท ตามมติครม.เมื่อวันที่2มิถุนายน2558 จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ในวงเงิน 16,953 ล้านบาท โดยมีชาวไร่อ้อยที่จะได้รับความช่วยเหลือประมาณ 150,000 ราย โดยจะมีการลงนามในสัญญาเงินกู้ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยได้ประมาณวันที่ 21 กรกฎาคมนี้
นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า แม้ในปีนี้จะเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง แต่จากการประเมินปริมาณอ้อยขั้นต้นคาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบประมาณ 111 ล้านตันอ้อย สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 105 ล้านตันอ้อย เนื่องจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลในการเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวมาปลูกอ้อย รวมทั้งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติให้ตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีกหลายราย ทำให้โรงงานน้ำตาลลงไปสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น ทำให้มีพื้นที่ปลูกอ้อยสูงกว่าในขณะนี้ที่มีอยู่ 10.53 ล้านไร่ นอกจากนี้ แม้ภัยแล้งจะกระทบต่อการเพาะปลูก แต่ก็มีปริมาณไม่มาก เพราะเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย
ในส่วนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกนั้นขณะนี้มีราคาประมาณ 11-12 เซ็นต์/ปอนด์ ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่มีราคา 15 เซ็นต์/ปอนด์ และคาดว่าราคาอ้อยจะยังคงต่ำต่ำต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี เพราะสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกยังมีปริมาณมาก และตลาดโลมีความต้องการน้ำตาล 168 ล้านตัน/ปี แต่ผลิตได้ 176 ล้านตัน/ปี เกินความต้องการเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ในอีก 2 ปี ข้างหน้าความต้องการน้ำตาลจะเพิ่มขึ้นจนสูงกว่ากำลังการผลิตอ้อยทั้งโลก เนื่องจากประเทศจีนจะนำอ้อยและน้ำตาลไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น