- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 06 June 2015 21:28
- Hits: 1869
ก.อุตฯชวนเอสเอ็มอีญี่ปุ่นลงทุนไทย คุยเอกชนจัดมินิแฟกตอรี่รองรับ
แนวหน้า : นายยาซุโอะ อิวาซากิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า การหารือในครั้งนี้เป็นการต่อยอดความร่วมมือและสรุปผลการดำเนินงานภายหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง จ.ไซตามะ กับกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยในปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด มีผู้ประกอบการในจังหวัดไซตามะเข้ามาลงทุนแล้วกว่า 30 ราย ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และธุรกิจที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย
ส่วนในปี 2558 มีผู้ประกอบการใน จ.ไซตามะ เข้ามาหารือถึงการลงทุนในไทยกับทางจังหวัดแล้วกว่า 80 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทยมาก่อน ทำให้ต้องใช้เวลาหาข้อมูลอีกซักระยะ ทำให้ไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่าจะเข้ามาลงทุนเมื่อไร และมีมูลค่าเท่าใด
"สำหรับ นักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนเราก็มีหน่วยงานให้คำแนะนำเรียกว่าเป็น Support Desk อยู่ที่ประเทศไทย โดยจะให้คำแนะนำด้านข้อมูลการลงทุนในประเทศไทยแก่นักลงทุนที่มาจากไซตามะ ซึ่งนักลงทุน 80 ราย ที่เข้ามาคุยส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นนักลงทุนเอสเอ็มอีที่ออกมาตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ โดยธุรกิจส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เช่นเดิม" นายยาซุโอะ กล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาที่สำคัญของผู้ประกอบญี่ปุ่นหน้าใหม่ที่ไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทยได้แสดงความเป็นห่วง จะมีอยู่ 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ความล่าช้าในการออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ ร.ง.4 ขั้นตอนในการขอคืนภาษี และการสำรวจด้านการตลาด
"การทำสำรวจด้านการตลาดเป็นสิ่งที่เรากังวลมากที่สุด เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีศูนย์ข้อมูลที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำการตลาดในประเทศไทยเลย จึงอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนสูงมาก" นายยาสุโอะ กล่าว
ด้าน นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นนั้น ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจและได้แก้ไขให้แล้วในบางส่วน เช่น การออกใบ รง.4 ที่ขณะนี้สามารถออกได้ภายใน 30 วัน ขณะที่ขั้นตอนการขอคืนภาษีจะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง เพื่อเร่งรัดอำนวยความสะดวกต่อไป
"จังหวัดไซตามะนอกจากจะมีชื่อเสียงด้านการเป็นฐานยานยนต์ ยังมีความาสามารถในการผลิตยาและเครื่องสำอาง ซึ่งอนาคตน่าจะเป็นโอกาสที่จะดึงกลุ่มอุตสหกรรมเหล่านี้มาเพิ่มในไทย ทั้งนี้เป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2558 คือต้องการดึงเอสเอ็มอีเข้ามาลงทุนเบื้องต้น 500 ราย และนอกจากข้อกังวลด้านการทำงานของรัฐแล้ว เขาอยากให้ไทยหามินิแฟคตอรี่ให้ด้วย เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีกำลังด้านการเงินมากนัก เนื่องจากเป็นเอสเอ็มอี ซึ่งเราก็รับปากว่าจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนส่วนใหญ่ ก็ได้ขยายพื้นที่สร้างมินิแฟกตอรี่ เพื่อรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่แล้ว โดยกระทรวงฯจะประสานงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ได้รับความสะดวกมากที่สุด" นายปราโมทย์ กล่าว
สำหรับ ความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับจังหวัดต่างๆในประเทศญี่ปุ่นนั้น ล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือไปแล้ว 10 จังหวัด และล่าสุดมี จ.มิเอะ ที่ได้ลงนามไปแล้วในปีที่ผ่านมา ก็จะเข้ามารายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานในเร็งๆนี้ ซึ่งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปลงลึกดึงดูดนักลงทุนในจังหวัดต่างๆของญี่ปุ่น ก็ทำให้ผู้ประกอบการกลางน้ำและปลายน้ำ ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี สนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความครบวงจรทั้งระบบ และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศไทยได้อย่างเต็มที่