- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 29 May 2015 12:54
- Hits: 2068
นายกฯส.เหล็กแผ่นรีดร้อนฯเร่งรัฐเก็บเซอร์ชาร์จเหล็กนำเข้าหลังกระทบอุตฯในปท.
นายยรรยง คุโรวาท นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ หลังล่าสุดปัญหาเหล็กนำเข้าเหล็กดังกล่าวส่งผลให้การใช้กำลังการผลิตของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเหลือน้อยกว่า 40% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของอุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ 8 สมาคม ได้ร่วมกันยื่นหนังสือขอรับความคุ้มครองถึงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ขอให้เร่งดำเนินการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ การนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ตามมาตรา 49 ซึ่งยืนยันว่า นโยบายการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษนี้ จะไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับสินค้าที่มีการใช้มาตรการทางการค้า (Anti-dumping และ Safeguard) ซึ่งได้รับการปกป้องอยู่แล้วอย่างแน่นอน การร้องขอมาตรการคุ้มครองโดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษในครั้งนี้สำหรับสินค้าที่ยังไม่มีมาตรการทางการค้าและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศจริงๆเท่านั้น
"สำหรับสินค้าที่มีการใช้มาตรการทางการค้าที่มีการยื่นเรื่องไปยังกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยเร่งรัดการพิจารณาโดยเร็ว เพราะขั้นตอนปกติใช้เวลาในการพิจารณามากกว่า 1 ปี ไม่สามารถต้านทานการทะลักของสินค้านำเข้า ทั้งในรูปแบบปกติและหลบเลี่ยงมาตรการที่ปริมาณเพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการหลีกเลี่ยงก็มีหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นได้"นายบรรยง กล่าว
ด้านนายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เปิดเผยว่า ผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการนำเข้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนมาจากจีนเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนมีปริมาณมาก สมาคมฯ จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐมีมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงดังกล่าว รวมทั้งมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนและมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย
"เหล็กนำเข้าดังกล่าวมีการเจือสารโบรอนและโครเมี่ยมเข้าไปในเนื้อเหล็ก ทั้งที่ไม่มีประโยชน์ในการใช้งานก่อสร้างและอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่เจตนาเจือสารดังกล่าวเป็นไปเพื่อเลี่ยงพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเท่านั้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีจำนวนมากในแต่ละปี ในขณะเดียวกันก็ไม่สนใจว่า สารโบรอนหรือโครเมี่ยมที่เจือไปในเนื้อเหล็กนั้น จะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคหรือไม่"เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน กล่าว
นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคณะทำงานส่งเสริมการค้าระหว่างอาเซียน (TPRCO) เปิดเผยว่า จากที่ประชุมสมาคมเหล็กอาเซียน (SEAISI) ที่กรุงมะนิลา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รายงานถึงตัวเลขปริมาณความต้องการใช้เหล็กของประเทศอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งมีการคาดการณ์อัตราการใช้เหล็กของปี 58 ว่าจะเติบโตสูงขึ้น 4.3% เป็น 66 ล้านตัน จาก 63 ล้านตันในปี 57 แต่อุตสาหกรรมภายในของแต่ละประเทศกลับไม่ได้รับประโยชน์จากอัตราการเติบโตดังกล่าว
เนื่องจากผลกระทบจากเหล็กนำเข้าที่มีอัตราสูงถึง 60% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กจากจีน ที่มีการส่งเสริมการส่งออกจากรัฐบาลจีนเพื่อระบายอัตราการผลิตเหลือใช้ที่มีปริมาณสูงมาก ประกอบกับอัตราความต้องการใช้ในประเทศจีนเองชะลอตัว นอกจากนี้ผู้ประกอบการเหล็กยังได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กตกต่ำที่สุดในรอบสิบปี ทำให้ทุกประเทศมีการประกาศใช้มาตรการเร่งด่วนในการปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากผลกระทบของเหล็กนำเข้า
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมเหล็กและเหล็กกล้าอินโดนีเซีย ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียเร่งดำเนินการเพื่อขึ้นภาษีเหล็กทุกประเภทในพิกัดของหมวดสินค้าเหล็ก (Chapter 72) ประมาณ 5- 15% โดยบรรจุเป็นหนึ่งในโครงการแผนปฏิบัติการในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อส่งเสริมผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาจากการทะลักของเหล็กนำเข้าที่มีผลทำให้อัตราการผลิตภายในประเทศลดลงถึง 30-40% ขณะที่ประเทศเวียดนาม หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการแข่งทางการค้าได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมศุลกากรและ การนำเข้า-ส่งออกได้มีมาตรการติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิดและหาทางออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์