- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 24 May 2015 20:19
- Hits: 1780
ไทย-บราซิลหารือขยายช่องทางการค้า
แนวหน้า : ไทย-บราซิลหารือขยายช่องทางการค้า ตั้งเป้า 5 ปีเพิ่มมูลค่าแตะ 8 พันล้านดอลล่าร์
กลุ่มนักธุรกิจบราซิล พบ'จักรมณฑ์'เจรจาการค้า ขยายความร่วมมืออุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารฮาลาล อ้อยน้ำตาล วางแผนเพิ่มมูลค่าการค้าจาก4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐเป็น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้นำเข้าสินค้าจากบราซิล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558ว่าคณะผู้นำเข้าจากรัฐโกยาส ซึ่งเป็นรัฐขนาดใหญ่ และเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศบราซิลได้นำคณะนักธุรกิจ และสื่อมวลชน เข้าหารือเพื่อขยายการค้าระหว่าง 2 ประเทศ และเข้าร่วมงานTHAIFEX ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน
โดยสินค้าที่มีโอกาสขยายมูลค่าการค้าเพิ่มจะอยู่ในกลุ่มของอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมบริการ เช่น สปา สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งแม้ว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีจุดแข็งด้านเกษตรกรรมเหมือนกัน แต่ก็สามารถเสริมกันได้ เพราะมีสินค้าหลายชนิดที่เราผลิตได้ แต่เขาผลิตไม่ได้ และที่ผ่านมาไทยได้นำเข้าถั่วเหลือจากบราซิลเป็นจำนวนมากมาป้อนให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมทั้งยังมีโอกาสเพิ่มยอดขายในส่วนของเครื่องกีฬา ที่ไทยเป็นผู้ผลิตชุดกีฬาชั้นนำของโลก
“ประเทศบราซิลมีจุดเด่นในเรื่องของอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารฮาลาล โดยเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 10 ของโลก เพราะบราซิลมีพื้นที่มากกว่าไทยถึง 17 เท่า รวมทั้งยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่คล้ายคลึงกับเรา ดังนั้น จึงสามารถที่จะประสานคาวมร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศไทย” นายจักรมณฑ์ กล่าว
นายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลกล่าวว่าบราซิลมีความต้องการขยายการค้าการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยโดยเฉพาะในส่วนของรัฐโกยาสมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมยานยนต์ เกษตร และอาหารฮาลาล ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ตั้งใจที่จะเข้าร่วมงาน THAIFEX เพื่อนำเข้าสินค้าอาหารจากไทย รวมทั้งปลาทูน่ากระป๋องเพิ่ม
“รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะนำคณะภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเยือนบราซิล โดยจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารฮาลาลไปด้วย เพื่อศึกษาดูงานและประสานความร่วมมือในการผลิตอาหารฮาลาลระหว่างไทยกับบราซิล รวมทั้งจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการผลิตอ้อยและน้ำตาล เนื่องจากบราซิลเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ส่วนไทยอันดับ 2 ของโลก” นายพิชยพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกไปบราซิลประมาณ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากบราซิลประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด
สำหรับ สินค้าที่ไทยนำเข้าเข้าจากบราซิลส่วนใหญ่จะเป็น ถั่วเหลือ แร่ หินมีค่า เครื่องจักกลการเกษตรบางส่วน ส่วนสินค้าที่ไทยส่งออกไปบราซิล ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ทุกชนิด อาหารทะเล และอาหารกระป๋อง เป็นต้น