- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 11 May 2015 07:57
- Hits: 1936
อุตฯ ยกระดับแฟชั่นไทยแข่งเวทีโลก
บ้านเมือง : นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ที่มีการเติบโตและมีการขยายตลาดเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ในปี 2557 อุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกได้สูงกว่า 6.2 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานรวมกว่า 2.2 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 1) อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3.16 แสนล้านบาท 2) อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า 5.76 หมื่นล้านบาท 3) อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 3.23 แสนล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ได้สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเป็นอย่างมาก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเริ่มมีคู่แข่งจากประเทศจีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนซึ่งมีค่าแรงต่ำกว่าไทย ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของไทยสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน
ในปี 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางแฟชั่นอาเซียน ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สร้างเอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำ ซึ่งคาดว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสากลได้ และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำโครงการ "พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย" ประจำปี 2558 ขึ้น คาดว่าจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เป็นศูนย์กลางของแฟชั่นในภูมิภาคอาเซียนในปี 2560
ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าในเรื่องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน
การออกแบบ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเติบโตและก้าวทันกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบุคลากรกลุ่มดังกล่าวจำเป็นต้องใช้กระบวนการที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะทาง, ผสมผสานเทคนิคในการให้ความรู้, การปรึกษาแนะนำ และการจัดประกวดผลงานเพื่อพัฒนาความสามารถให้เกิดผลทางด้านธุรกิจ โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดเด่น หรือทุนเฉพาะตัว (Design Differentiation) ของนักออกแบบแต่ละรายให้ปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้
โดยจัดให้มี 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.Fashion Trend 2016 กิจกรรมการสัมมนาแฟชั่นเทรนด์จำนวน 800 คน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและทักษะการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดำเนินการจัดสัมมนาทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทยได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และภูเก็ต
2.Fashion Designer Creation 2015 (FDC 2015) กิจกรรมการสร้างนักออกแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นจำนวน 200 คน มุ่งพัฒนาศักยภาพในการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ต่างๆ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นโดยใช้แนวคิดใน การออกแบบ 4 ธีม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และสามารถเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้ 3.Thailand Innofasion Awards 2015 (TIFA 2015) กิจกรรมการจัดประกวดด้านการออกแบบแฟชั่น เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้และเสริมสร้างภาพลักษณ์ของงานออกแบบแฟชั่นไทยด้วยการประกวดเฟ้นหานักออกแบบรุ่นใหม่ที่สามารถนำแรงบันดาลใจในหัตถศิลป์มาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นนวัตกรรมแฟชั่นระดับโลก สามารถสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับประเทศได้