- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 18 April 2015 22:40
- Hits: 2101
จักรมณฑ์ ตรวจนิคมฯ มาบตาพุดเตรียมความพร้อมรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า ได้มอบนโยบายด้านต่างๆ ให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ไม่ว่าจะเป็น การวางระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ระบบคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะขยายตัวในอนาคต รวมถึงแนวทางในการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม มูลฝอย และสิ่งปฏิกูลในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่นิคมฯ รวมทั้งกำชับการเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน
ปัจจุบัน กนอ.มีแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุดที่เป็นรูปธรรม ทั้งการกำกับดูแลและเฝ้าติดตามผลการดำเนินงานภายใต้ระเบียบของ กนอ. โดยเฉพาะในด้านของการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ กนอ.ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม( EMCC ) ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวังกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนที่อยู่รอบนิคมฯ ซึ่งเป็นแผนงานที่ กนอ.ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ ตั้งแต่การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย แผนการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน การมีส่วนร่วมธรรมาภิบาล การบริหารจัดการมลพิษจากแหล่งกำเนิด เป็นต้น
โดยศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยกลางในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่นิคมฯ ซึ่งได้รับการพัฒนา ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กนอ.มีเป้าหมายการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่นิคมฯอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ น้ำ และการจัดทำฐานข้อมูล รวมถึงการสื่อสารให้กับชุมชน ทั้งในระบบการแจ้งข่าวเตือนภัย รวมถึงการรักษาความปลอดภัยภายในนิคมฯ การติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดต่างๆ รอบนิคมฯ 300 จุด รถเคลื่อนที่สำหรับการตรวจวัดคุณภาพอากาศ การติดตั้งสถานีตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายแบบอัตโนมัติ จำนวน 4 สถานี โดยนำเทคโนโลยี และระบบสารสนเทศเข้ามาดำเนินการเฝ้าระวัง และติดตามผล เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูล และวางแผนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและป้องกันในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ ในเป้าหมายแผนการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดยังมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีแผนพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นทีนิคมฯมาบตาพุด และเป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นับได้ว่า จะเป็นช่องทางที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลยังได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคม โดยเฉพาะระบบรางให้สามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการลดต้นทุนภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ กนอ.จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมฯมากขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. กนอ. ให้ กนอ.เป็นหน่วยงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ในการกำกับดูแลการส่งเสริมลงทุนของ กนอ. ที่ขยายมากขึ้นไปสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการแก่นักลงทุน และลูกค้าอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์
กนอ.คุมเข้มผู้ประกอบการนิคมฯ
บ้านเมือง : ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้มีวันหยุดยาวในช่วงวันแรงงานแห่งชาติ และวันฉัตรมงคล (วันที่ 1-5 พฤษภาคม 2558) นั้น กนอ.จึงได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในนิคมฯ ทุกแห่งทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยด้านต่างๆ ในบริเวณพื้นที่สถานประกอบการ และพื้นที่โดยรอบนิคมฯ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ กนอ.ได้มีมาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการในช่วงวันหยุดยาว โดย 1.จัดเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำ ในการสังเกตการณ์ทั้งในพื้นที่โรงงานและอาณาเขตโดยรอบตลอด 24 ชม. และ 2.กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯ และให้ประสานงานแจ้งสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมหรือท่าเรืออุตสาหกรรมที่โรงงานตั้งอยู่ และแจ้งมายังศูนย์ปฏิบัติการ กนอ.ได้ตลอดเวลา
กนอ.ได้มีการซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเน้นย้ำให้ปี 2558 มีการตรวจสอบระบบความปลอดภัยต่างๆ ภายในโรงงาน ระบบสัญญาณเตือนภัย ระบบขนส่งและเส้นทางเดินรถ ทางเข้า-ออก และการเตรียมความพร้อมทั้งด้านการสื่อสาร การอพยพคนงาน ซึ่งการเตรียมการป้องกัน ความพร้อม และมาตรการต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดการสูญเสีย หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถร่วมกันบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที และเป็นระบบลดการตื่นตระหนกหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง อีกทั้งให้มีการรายงานประเมินผลสถานการณ์มายังศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. (IEAT Operation Center) หรือ EMCC@IEA-T ทันทีที่สำนักงานนิคมฯต่างๆ และอาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องผ่านระบบการประชุมทางไกล และโทรศัพท์แบบไอพี ระบบกล้องวงจรปิด CCTV เพื่อดำเนินการแก้ไขอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
สำหรับ ศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. (IEATOperation Center) หรือ EMCC@IEA-T จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่นิคมฯ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ Warroom ติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนภัย บัญชาการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ผ่านระบบประชุมทางไกล