- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 07 April 2015 22:15
- Hits: 1998
เผยไฟไหม้รง.สมุทรสาครพุ่งสูง ยอดเสียหายทั่วปท.กว่า 400 ล.
แนวหน้า : นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงอุตสาหกรรมหามาตรการป้องกัน อุบัติเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งมักก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์?สิน และสิ่งแวดล้อม หากเพลิงไหม้ลุกลาม แพร่กระจายในวงกว้างก็จะยิ่งเป็นอันตรายร้ายแรง ดังนั้น การมีระบบป้องกันอัคคีภัยและการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุม และระงับเหตุเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ จากสถิติปี 2555-2557 พบว่าจังหวัดที่เกิดอัคคีภัยหลายมากที่สุด ได้แก่ สมุทรสาคร 19 ราย สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และชลบุรี จังหวัดละ 15 ราย ปทุมธานี 14 ราย หากเจาะลึกถึงประเภทโรงงานที่เกิดอัคคีภัยหลายครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ประเภทโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร 23 ราย อันดับสอง คือ โรงงานสิ่งทอ 13 ราย อันดับสาม คือโรงงานคัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้ว 10 ราย ส่วนอันดับสี่คือโรงงานเครื่องเรือนจากไม้ วงกบ ประตู หน้าต่างไม้ และโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ ประเภทละ 9 ราย และอันดับห้าคือโรงงานผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลาสติก 7 ราย
นายพสุ กล่าวว่า หากนับจำนวนอัคคีภัยในโรงงาน 3 ปีย้อนหลังพบว่า ในปี 2555 เกิดขึ้น 30 ราย ปี 2556 เกิดขึ้น 50 ราย และในปี 2557 เกิดอัคคีภัย 73 ราย ซึ่งสถิติปี 2557 เกิดอัคคีภัยในโรงงานสูงกว่าปี 2556 ถึง 46% โดยความเสียหายจากอัคคีภัยในแต่ละปีมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท
ดังนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงเรื่อง “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ.2552” จำนวน 28 ข้อ อาทิ ประกาศกระทรวงฯ ข้อ 1.การบังคับใช้กับโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ที่เป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูงหรือปานกลาง โดยแบ่งเนื้อหาที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องปฏิบัติออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการระงับเหตุโดยการติดตั้งอุปกรณ์และระบบป้องกันอัคคีภัย ส่วนที่สองคือการป้องกันอัคคีภัยและตรวจสอบ ทดสอบ บำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์
โดยสามารถสรุปสาระสำคัญเป็น 3 มาตรการ อันประกอบด้วย 1.อาคารโรงงานต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตุเพลิงไหม้อัตโนมัติ ในพื้นที่ที่ไม่มีคนปฏิบัติงาน ประจำ และมีการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือจัดเก็บวัตถุไวไฟหรือวัตถุที่ติดไฟได้ 2.)โรงงานที่มีโกดัง (Warehouse) จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟได้ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และ 3. สถานที่จัดเก็บวัตถุไวไฟ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 14 ตรม. ขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ
นายพสุ กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ผู้ประกอบโรงงานอุตสาหกรรมยังละเลยการติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เนื่องจากยังเข้าใจว่าการติดตั้งอุปกรณ์ระบบดับเพลิงอัตโนมัติที่มีราคาแพง อาทิ เครื่องสูบน้ำ ถังดับเพลิง และ หัวกระจายน้ำดับเพลิงจะต้องติดตั้งทั่วทั้งโรงงาน ซึ่งในความเป็นจริง มาตรการได้ระบุให้ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีคนปฏิบัติงานเท่านั้น เช่น โกดังสินค้า (Warehouse) ขณะเดียวกันผู้ประกอบการโรงงานยังละเลยการตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบและอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและระงับอัคคีภัยรวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโรงงานให้เตรียมความพร้อมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม กรอ.ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง "การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2552" บรรจุเนื้อหาในประกาศกระทรวงครบ 28 ข้อ พร้อมกับวีดีทัศน์ความยาว 30 นาที เพื่อแจกจ่ายฟรีสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม สำนักอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย