- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 25 March 2015 12:01
- Hits: 2378
กระทรวงอุตสาหกรรม เปิด 3 นโยบายเร่งด่วน อัดฉีด SMEs ไทยปี 2558-2559 เตรียมพร้อมสู่ AEC
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เผยกลยุทธ์เร่งด่วนเพื่อพัฒนา SMEs ไทยให้พร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรองรับฐานผู้บริโภคที่ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 600 ล้านคนทั่วอาเซียน ด้วยการดำเนินงานใน 3 โครงการหลัก เตรียมพร้อมสู่ AEC
โดย 3 โครงการหลัก ดังกล่าว ได้แก่ (1) โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมรองรับ AEC การพัฒนาบุคลากร การปรึกษาแนะนำเชิงลึกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงรุกสู่ตลาด AEC รวมทั้งนำผู้ประกอบการไปเจรจาธุรกิจ และทดลองตลาดในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และอาเซียน+3 ซึ่งได้ผลสำเร็จโครงการในปี 2557 คือสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ กิจการ และบุคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมได้กว่า 7,094 ราย 600 กิจการ และ 5,145 ราย ตามลำดับ
(2) โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย โดยมุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒาบุคลากรด้านเทคนิคและการจัดการ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่น การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่น และการเพิ่มประสิทธิภาพตลอดสายกระบวนการผลิต
และ (3) โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศโดยมีสัดส่วนใน GDP สูงถึงกว่าร้อยละ 40 แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปี 2558 นี้ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวและเร่งสร้างความพร้อมอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขัน ใน AEC ได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมไทย ที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นจากตลาดภายในประเทศที่มีฐานผู้บริโภค 65 ล้านคน สู่ระดับอาเซียนที่ผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน
สำหรับ อุตสาหกรรมไทยที่มีความโดดเด่นและมีทิศทางในการขยายตลาดได้ดีที่สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงสิ้นปี 2558 ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออกไปประเทศอาเซียนประมาณ 1,146.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าการส่งออก 1,610.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีการพัฒนามายาวนาน มีทักษะความชำนาญ และมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร หากสามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มีศักยภาพได้ก็จะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ
ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกหน่วยงานอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนงานพิมพ์เขียว AEC สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆดำเนินการ อาทิ การสร้าง National Single Window โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง สำหรับในส่วนของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่อยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน ซึ่งมี 5 รายการด้วยกันคือ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เพื่อการก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไม้
รวมถึงการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วม หรือ MRA (Mutual Recognition Arrangement) สาขาก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต นอกจากนี้ สมอ. ยังมีการปรับกฎระเบียบและการควบคุมบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Implementation of ASEAN Harmonised Electronic Equipment Regulatory Regime: AHEEERR) ที่ขณะนี้ได้ปรับไปแล้ว 22 รายการจาก 30 รายการอีก 8 รายการจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
แต่สำหรับการดำเนินงานที่นอกเหนือจากพันธสัญญาตามพิมพ์เขียวดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงาน ในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเดิม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)ได้กำหนด 3 โครงการเร่งด่วน ได้แก่ (1)โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC (2)โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่การเป็นมหานครแฟชั่นอาเซียน และ (3)โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานตามทั้ง 3 โครงการเร่งด่วนดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กสอ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ OTOP เป็นหน่วยงานปฏิบัติ ดร.อรรชกากล่าว
ด้านนายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมแฟชั่น สู่การเป็นฮับ (Hub)แฟชั่นของภูมิภาคนั้น กสอ.มุ่งผลักดัน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งทั้ง 3 อุตสาหกรรมสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละมากกว่า 600,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2.2 ล้านคน โดยในปี 2557 กสอ. ได้พยายามสร้างปัจจัยเอื้อต่อธุรกิจแฟชั่นโดยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักออกแบบมีโอกาสนำผลงานมาเสนอต่อกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศเพื่อแสดงศักยภาพแฟชั่นไทยสู่การยอมรับในระดับนานาประเทศ
พร้อมทั้งดำเนินการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการแฟชั่นให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยมุ่งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างกระบวนการผลิตต้นน้ำ/กลาง ซึ่งเป็นส่วนที่ผลิตและสร้างสรรค์วัตถุดิบ ให้มีรูปแบบ มีคุณภาพ และมีฟังก์ชั่นการใช้งาน (Material Design&Development) ที่ตอบสนองส่วนปลายน้ำคือ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ได้มีการออกแบบ (Fashion Design)ให้สอดคล้องกับแนวโน้มแฟชั่น (Fashion Trend)ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การพัฒนานักออกแบบ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การจัดประกวดแบบแฟชั่น การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตในโรงงาน การสร้างกลุ่มเครือข่ายย่านธุรกิจแฟชั่นในย่านการค้าต่าง ๆ เช่น ประตูน้ำ สำเพ็ง สุขุมวิท จตุจักร โบ๊เบ๊ เป็นต้น
นอกจากนี้ กสอ.ยังมีแนวทางส่งเสริมการตลาดเพื่ออุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งกสอ.ได้สร้างความร่วมมือด้านการตลาดเพื่อเชื่อมโยงกับ AEC+6 การจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ของสินค้าแฟชั่นในวงกว้าง เป็นต้น เพื่อจะให้ประเทศไทยเป็น Hub ของการ SOURCING & SHOPPING แฟชั่นชั้นนำของภูมิภาค
นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการเสริมสร้างผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเถ้าแก่ใหม่ กสอ.มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจและดำเนินธุรกิจให้เติบโตและเข้มแข็งใน AEC โดยปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการใหม่ จำนวน 1,890 ราย ผ่านโครงการ "เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่" (New Entrepreneurs Creation : NEC) ซึ่งจากการดำเนินงานในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ปี 2557 นั้น สามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ได้ถึง 1,679 ราย เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ จำนวน 616 ราย มีการลงทุนในธุรกิจที่ตั้งหรือขยายเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 852.54 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 3,045 ราย ทั้งนี้ สำหรับปี 2558 กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้ได้ผลกว่า 1,890 ราย โดยเน้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ Digital Economy และการเปิด AEC
ในส่วนของผู้ประกอบการเดิมนั้น กสอ.ได้มีโครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ผู้ประกอบการตั้งรับและรุกได้อย่างยั่งยืนเมื่อเปิด AEC ในปี 2559 โดยมีเป้าหมายดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวผู้ประกอบการ 3,500 คน เพิ่มขีดความสามารถองค์กรธุรกิจ/โรงงาน 600 กิจการ และพัฒนาบุคลากร 2,100 ราย ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 และได้มีกิจกรรมพัฒนาเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ/กิจการ แล้วกว่า 8,000 ราย ก่อให้เกิดการปรับปรุงธุรกิจ และการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
นายอาทิตย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากโครงการทั้ง 3 แล้ว กสอ.ยังดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอื่น ๆ กว่า 70 โครงการ/กิจการ สอดรับกับความหลากหลายของอุตสาหกรรม แก้ปัญหาที่ตรงจุด ดังนั้นโครงการต่าง ๆ จึงกำหนดมาในหลากหลายบริบทให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการที่แตกต่างกัน มีการปรับปรุงรูปแบบกระบวนการส่งเสริม ปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการตลาด กฎระเบียบใน AEC Digital SMEs เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ ให้เกิดเครือข่ายใหม่เพิ่มขึ้น เช่น คลัสเตอร์เครื่องสำอาง คลัสเตอร์แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร คลัสเตอร์ OTOP และคลัสเตอร์กลุ่มหัตถศิลป์ เป็นต้น