- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Sunday, 15 March 2015 14:37
- Hits: 2414
กรอ.จี้รถขนกากอุตสาหกรรมติดจีพีเอส
แนวหน้า : กรอ.จี้รถขนกากอุตสาหกรรมติดจีพีเอส ฝ่าฝืนเจอโทษจำคุก 2 ปี-ปรับ 2 แสน
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไทยมีกากอุตสาหกรรมอันตราย 3.35 ล้านตัน แต่ในปี 2557 มีการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 1 ล้านตันเท่านั้น โดยในปี 2558 นี้ กรมได้ตั้งเป้านำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าระบบให้ได้ 1.2-1.5ล้านตัน มีโรงงานที่ได้ลงทะเบียนในระบบจัดการกากอุตสาหกรรมและส่งขยะอุตสาหกรรมออกไปบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลแล้วประมาณ 5,300 โรงงานเท่านั้น จากทั้งหมด 68,000 โรงงาน ดังนั้น กรมจะใช้แผนจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีข้างหน้า ที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า ในการเร่งรัดโรงงานเข้าระบบให้ได้ 10,000 โรงงาน ภายในปี 2558 นี้
ทั้งนี้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน คือ 1.การกำกับดูแล การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ติดตามการต่ออายุใบอนุญาตโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอันตรายให้สมบูรณ์, 2.การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เข้มงวดกับผู้ฝ่าฝืน การอำนวยความสะดวกกับผู้ปฏิบัติตาม, 3.การสร้างความร่วมมือ แรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการนำกากอุตสาหกรรมเข้าระบบ และ4.การสนับสนุนจากเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรม 6 แห่ง สำหรับอนาคตระยะ 20-30 ปี และแผนการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่จะหมดอายุใน 20 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีปริมาณสูงกว่า 2 แสนตัน
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2558 กรมได้รับงบประมาณ 14 ล้านบาท ในการลงทุนติดตั้งระบบรับสัญญาณจีพีเอส เพื่อเป็นการควบคุมรถบรรทุกขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีอยู่ประมาณ 3,400 คันทั่วประเทศซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถลงโทษรถบรรทุกที่ยังไม่ติดสัญญาณจีพีเอสได้ เนื่องจากกรมยังไม่ได้ติดตั้งระบบรับสัญญาณจีพีเอส แต่คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2558 จะสามารถติดตั้งเสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นจะมีบทลงโทษรถบรรทุกที่ยังไม่ได้ติดสัญญาณจีพีเอส ตาม พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นความสมัครใจของผู้ขนส่งในการติดตั้งจีพีเอสในรถบรรทุกโดยใช้งบประมาณในการติดตั้งประมาณ 2 หมื่นบาทต่อคัน
นอกจากนี้ กรมได้มีการเข้าไปตรวจสอบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานลำดับที่ 101 คือ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม โรงงานลำดับที่ 105 คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝั่งกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ และโรงงานลำดับที่ 106 คือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตฯที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม จากจำนวน 1,600 โรงงาน พบ 110 โรงงาน ไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมกำหนดไว้ ดังนั้น กรมจึงให้ระงับการให้บริการก่อน จนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องตามมาตรฐาน หากไม่ปฏิบัติตามหรือไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไป
กรอ.ชง 4 ข้อกำจัดกากอุตฯ เล็งเสนอ ครม.สัปดาห์หน้าหวังเห็นผลภายใน 5 ปีจี้รถขนกากอุตสาหกรรมติดจีพีเอส
บ้านเมือง : กรอ.เสนอ 4 ยุทธศาสตร์ ชงคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า สูตรจัดการกากอุตสาหกรรมภายใน 5 ปี เผยไทยมีความจำเป็นต้องยกระดับ อุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุคสีเขียวอย่างแท้จริง พร้อมตั้งเป้าโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการกากฯ ไม่น้อยกว่า 90% ในปี 2563
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าขณะนี้ เตรียมเสนอ 4 ยุทธศาสตร์จัดการกากอุตสาหกรรมภายใน 5 ปี เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า พร้อมตั้งเป้าโรงงานที่มีใบอนุญาต รง. 4 เข้าสู่ระบบการจัดการกากฯ ไม่น้อยกว่า 90% ในปี 2563 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุคสีเขียวอย่างแท้จริง ซึ่งการจัดการกากอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานทั้งสินค้าและการบริหารจัดการในการผลิต โดยปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยโดยในปี 2557 สร้างมูลค่ามากถึงร้อยละ 40 ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือประมาณ 5 ล้านล้านบาท จาก GDP รวม 12.14 ล้านล้านบาท ทั้งนี้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมย่อมเกิดของเสียหรือกากจากวัตถุดิบต่างๆ ที่ไม่สามารถทำให้เป็นสินค้าได้ทั้งหมด หรือที่เรียกว่ากากอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ กากอันตราย และกากไม่อันตราย ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่ถูกต้อง
ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กำลังทำการศึกษาจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อให้เพียงพอที่จะจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในอนาคต โดยปัจจุบันได้ร่วมมือกับ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) โดยองค์กร NEDO พัฒนาโครงการเตาเผาขยะร่วมที่ทันสมัย ขนาด 500 ตันต่อวัน ระยะเวลา 5 ปี มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท โดยคาดว่าถ้าการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประสพผลสำเร็จ จะก่อให้เกิดธุรกิจกำจัดกากในประเทศมูลค่ากว่า 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม1564
สำหรับ แผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ครอบคลุมใน 3 กลุ่มผู้เกี่ยวข้องได้แก่ กลุ่มโรงงานผู้ก่อกำเนิดกาก กลุ่มผู้ขนส่งและ กลุ่มโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกาก โดยมีรายละเอียดดังนี้ ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ควบคุมและกำกับดูแลให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากปัญหาใหญ่ของการจัดการกากอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ ที่ 2 สร้างความร่วมมือและแรงจูงใจ ส่งเสริมการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำกากมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงาน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้องค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อทำหน้าที่เป็น Third party ในการศึกษาหาพื้นที่แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีจำนวนจำกัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 10 แห่งภายใน ปี 2558 และปรับปรุงตำรากากอุตสาหกรรม สำหรับผู้ควบคุมมลพิษกากอุตสาหกรรมและ Third party ขณะเดียวกันได้สร้างแรงจูงใจโดยการเพิ่มสัดส่วนเงินรางวัลจากค่าปรับผู้ลักลอบทิ้งกากให้แก่ประชาชนผู้แจ้งเบาะแส ร้อยละ 25% ของค่าปรับส่วนที่เป็นเงินรางวัล ยุทธศาสตร์ ที่ 3 เครือข่ายภายในประเทศที่ให้การสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความเข้มงวดกับผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้ง โดยขอความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลยานพาหนะ(รถบรรทุก) และถนน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจ/ควบคุมรถขนส่งกากอันตรายที่วิ่งตามท้องถนน โดยเฉพาะรถที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานและไม่มีติดตั้ง GPS อย่างถูกต้อง ยุทธศาสตร์ ที่ 4 ปรับปรุงกฎหมายเพื่อติดตามผู้กระทำผิดและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการเข้มงวดกับโรงงานที่ไม่เข้าระบบอย่างถูกต้อง โดยแก้ข้อกฎหมายที่เคยเป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น เพิ่มบทลงโทษจำคุกกับผู้ลักลอบขนส่งกากที่มีโทษเพียงปรับ 200,000 บาท โดยขยายอายุความเป็น 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีอายุความเพียง 1 ปี ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทันการณ์ นอกจากนี้ยังออกประกาศ อก. ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการที่กำลังจะเข้ามาในงานอุตสาหกรรมรวมถึงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะต้องดูแลจัดการปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ชุมชนและโรงงานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง
นายพสุ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากฯ กับจำนวนโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิล ทั่วประเทศ ประมาณ 40:1 โดย ภาคตะวันออกมีสัดส่วน 12:1 รองลงมาคือภาคกลาง 44:1 ภาคตะวันตก 65:1 ภาคอีสาน 101:1 ภาคเหนือ 102:1 และภาคใต้ 121:1 อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมทำการศึกษาจัดหาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อให้เพียงพอที่จะจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในอนาคต