- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 09 March 2015 22:10
- Hits: 2132
'เอสเอ็มอี'ซึมรายได้หด 30%ชี้กำลังซื้อในประเทศทรุดจี้กระตุ้นท่องเที่ยวดันศก.
ไทยโพสต์ : พระราม 6 * สมาคมเอสเอ็มอีเผยกำลังซื้อในประเทศหดตัว ฉุดรายได้หดกว่า 30% แนะเร่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอาเซียนฟื้นรายได้ประเทศ ด้าน ส.อ.ท.ห่วงผลตัดสินปัญหาค้ามนุษย์ หากไม่ดีขึ้นกระทบส่งออกไปสหรัฐ เผยหนี้เอ็นพีแอลพุ่ง จี้รัฐเร่งเบิกจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เปิดเผยถึงแนวโน้มของธุรกิจเอสเอ็สอีว่า ภาพรวมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังไม่ดีนัก เนื่องจากรายได้ลดลงถึง 20-30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศไม่ฟื้นตัว จึงต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะเป็นภาคที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม มีสถานที่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้จัดงานอาเซียนเที่ยวไทยภายในปี 2558 นี้ จะช่วยกระตุ้นรายได้ให้ภาคเอสเอ็มอีได้รวดเร็ว
สำหรับ นโยบายการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของภาครัฐที่ประ กาศออกมา สามารถช่วยภาคเอส เอ็มอีได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ค่อยมีผู้ประกอบการไปขอความช่วยเหลือมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อของประชาชนไม่มี หากลงทุนขยายอะไรมากเกินไปก็ไม่มีใครซื้อ หรือใช้บริการอยู่ดี จึงต้องการให้กระตุ้นกำลังซื้อดีกว่า เพื่อให้เกิดการขยายความต้องการสินค้าและบริการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนจับตาอย่างใกล้ชิดคือ กรณีที่สหรัฐจะมีการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือปัญหาการค้ามนุษย์อีกครั้งในช่วงปลายเดือน มี.ค.2558 นี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นสหรัฐประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 3 หรือระดับล้มเหลว หากไทยไม่สามารถพ้นบัญชีดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อตลาดส่งออกไปสหรัฐ ที่ขณะนี้เป็นเพียงตลาดเดียวที่จะฟื้นตัวและมีศักยภาพที่จะทำให้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นได้
"การส่งออกที่ลดลง ม.ค.2558 แรงซื้อในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว สิ่งที่เอกชนรอดูคือมาตรการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พบว่า ม.ค.2558 รัฐเบิกจ่ายงบลงทุนเพียง 5 หมื่นกว่าล้านบาท คิดเพียง 13% จากที่ตั้งเป้าไว้ ทำให้การลงทุนทั้งรัฐและเอกชนบางส่วนมีการชะลอออกไป โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ รัฐก็ต้องดูสถานการณ์การเบิกจ่ายงบของรัฐก่อน" นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ ในปัจจุบันการส่งออกของไทยในตลาดหลักๆ มีทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป (อียู) ที่การส่งออกต้องเผชิญแรงกดดันมากจาก 2 กรณี คือ 1.การที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ลงในสินค้าบางรายการที่เคยได้รับ ทำให้ขีดความสามารถเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านลดลง 2.ค่าเงินบาทที่ไทยแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินยูโรอ่อนลง ทำให้ผู้ประกอบการที่มีคำสั่งซื้อเก่าต้องสูญรายได้จากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อคิดเป็นเงินบาทเฉลี่ยยูโรละ 4 บาท ดังนั้นภาพรวมการส่งออก ม.ค.2558 ตลาดอียูไทยสูญเงินไปถึง 6,000 ล้านบาทจากค่าเงินที่แข็งค่า
นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวยอมรับว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกำลังประสบปัญหาสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกชะลอตัว ส่งผลให้เริ่มเป็นเอ็นพีแอลในอัตราที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วง ดังนั้นเห็นว่ารัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจและหามาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วนด้วย.