- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 09 March 2015 22:09
- Hits: 2090
อุตฯปลุกผีโปแตชอาเซียน กระตุ้นเศรษฐกิจ-ลดนำเข้าปุ๋ย
บ้านเมือง : ล่าสุด รมว.'จักรมณฑ์' ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ คาดว่าเหมืองแร่โปแตชอาเซียนจ่อเริ่มผลิตจริงอีก 3 ปีข้างหน้า หลังรัฐบาลลงนามอนุญาตประทานบัตร ก.พ.ที่ผ่านมา ไปช่วยลดค่าปุ๋ยเกษตรกรในประเทศลง 10-15% กระทรวงอุตสาหกรรมหวังไทยกลายเป็นศูนย์กลางผลิตปุ๋ยในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งแร่โปแตชสำคัญของโลก เหตุปริมาณสำรองมีมากถึง 4.7 แสนล้านตัน ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองด้านราคาปุ๋ยในอนาคต
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ว่า ภายหลังจากที่ได้ ลงนามอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชให้แก่บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 ก.พ.58 และบริษัทฯ ได้รับประทานบัตรจากอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิในฐานะเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่เมื่อวันที่ 3 มี.ค.58 เรียบร้อยแล้ว วันนี้จึงได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการด้วยตนเอง
ทั้งนี้ โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน เป็นโครงการอุตสาหกรรมของอาเซียนตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี 2532 ร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นประมาณ 20% โดยบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำขอประทานบัตรเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านตาล ตำบลบ้านเพชร และตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการเจาะสำรวจจำนวน 100 หลุมเจาะ พบว่ามีปริมาณสำรองแร่โปแตชทางธรณีวิทยาประมาณ 430 ล้านตัน และได้ทดลองทำเหมืองแร่โพแทชใต้ดินในฐานะตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 โดยได้ก่อสร้างอุโมงค์ในแนวเอียงขนาด 6x3 เมตร ยาว 935 เมตร เข้าสู่ระดับความลึก 180 เมตรจากผิวดิน และอุโมงค์หลักเข้าหาชั้นแร่
รวมทั้งได้ทดลองพัฒนาการทำเหมืองแร่โปแตชแบบห้องสลับกำแพงค้ำยันจำนวน 3 ห้อง โดยแต่ละห้องมีขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 25 เมตร บริษัทฯ วางแผนที่จะผลิตโปแตชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยัน (Rooms and Pillars) และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน (Hot Crystallization) กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี รวมปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ที่จะผลิต 17.33 ล้านตัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท โดยในปี 2558 จะลงทุนซ่อมแซมอุโมงค์แนวเอียง 100 ล้านบาท ปี 2559 ลงทุนก่อสร้างอุโมงค์แนวดิ่งจำนวน 2 อุโมงค์ 4,500 ล้านบาท ปี 2560-2561 พัฒนาหน้าเหมืองและก่อสร้างโรงแต่งแร่ 35,400 ล้านบาท และจะสามารถผลิตปุ๋ยโพแทชได้ในปี 2562 จากการทำเหมืองทดลองที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ว่า วิธีการทำเหมืองมีความปลอดภัยและป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียนจะทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประเทศไทยไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยโปแตซ ประมาณ 700,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยปุ๋ยโปแตชที่ได้จะต้องขายภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพดี ในราคาที่ถูกลง รวมทั้งจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลสามารถเก็บเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 20-30% และค่าภาคหลวงแร่ประมาณ 7% โดยจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินประมาณ 40% และจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 60% รวมทั้ง รัฐบาลจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษประมาณ 3,700 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไปกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะได้ดำเนินการเรียกประชุมตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเพื่อตกลงกำหนดตัวบุคคลผู้มีสิทธิตรวจสอบ ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมตรวจสอบการทำเหมืองใต้ดินแบบมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมีกองทุนให้ผู้มีสิทธิตรวจสอบใช้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาเป็นที่ปรึกษา และบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จะนำเงินเข้ากองทุนต่างๆ ดังนี้ กองทุนสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบการทำเหมืองปีละ 1 ล้านบาท กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ 45 ล้านบาท กองทุนประกันภัยความเสี่ยง 50 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมือง 600 ล้านบาท กองทุนพัฒนาชุมชนรอบพื้นที่เหมือง 300 ล้านบาท และกองทุนเพื่อการศึกษาวิจัยด้านโปแตชประมาณ 60 ล้านบาท โดยกองทุนทั้งหมดดังกล่าวจะมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมบริหารจัดการกองทุนด้วย
นายประเสริฐ สุดใหม่ ที่ปรึกษาสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย กล่าวว่า จากการทำเหมืองแร่โปแตช เชื่อว่าประมาณ 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2561จะเริ่มเห็นราคาปุ๋ยลดลงประมาณ 10-15% จากราคาปัจจุบันประมาณตันละ 1.2 หมื่นบาทต่อวัน และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายสมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เหมืองแร่โปแตชอาเซียน บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อดำเนินการกู้เงินในโครงการเหมืองแร่โปแตซ วงเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ โดยล่าสุดธนาคารในประเทศหลายแห่งได้มีความสนใจเปิดให้บริษัทเข้ากู้ รวมถึงจะมีการคัดเลือกกลุ่มบริษัทผู้รับเหมาด้วย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ จะหารือเรื่องแผนลงทุนและการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2,800 ล้านบาท เมื่อโครงการเหมืองแร่โปแตชก่อสร้างแล้วเสร็จ ไทยจะสามารถผลิตปุ๋ยโปแตชเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี