- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Saturday, 07 March 2015 14:40
- Hits: 2700
ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลง 10%
แนวหน้า : ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลง 10% แจงนักลงทุนยังสับสน นโยบายส่งเสริมบีโอไอ
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ยอดขายและให้เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม สำหรับปีงบประมาณ 2557 (ต.ค. 2556 - ก.ย. 2557) อยู่ที่ 3,541 ไร่ โดย แบ่งเป็นพื้นที่ ที่กนอ.ดำเนินงานเอง 11 นิคมฯ มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 98 ไร่ และนิคมฯ ร่วมดำเนินงานที่เปิดดำเนินการแล้ว 29 นิคมฯ มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 3,443 ไร่ สำหรับปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. 2557 – ม.ค. 2558) ในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 730 ไร่ จากนิคมฯร่วมดำเนินงาน ซึ่งเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มียอดขายลดลง 85 ไร่ หรือลดลง 10%
“ยอดขายและให้เช่าพื้นที่ใน 4 เดือนแรกลดลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเอกชนยังสับสนกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2558”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้มั่นใจว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นและเข้าใจในนโยบายของบีโอไอมากขึ้นจะส่งผลให้มีการลงทุนเพิ่มและขยายกิจการมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนยังคงให้ความสำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วไทยยังคงเป็นประเทศที่มีศักยภาพและน่าลงทุนอยู่และมั่นใจว่าในช่วง 8 เดือนที่เหลือจากนโยบายอีโคคาร์ 2 ของภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ยอดขายพื้นที่ได้ตามเป้าที่วางไว้ 4,000 ไร่ หรือไม่น้อยกว่า 3,500 ไร่เท่ากับปีที่ผ่านมา” นายวีรพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ กนอ. ได้ตั้งเป้ายอดขายพื้นที่ปี 2558 ประมาณ 4 พันไร่ จากพื้นที่คงเหลือสำหรับขายและให้เช่า 14,333 ไร่ ซึ่งประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการลงทุน ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ คือนโยบายการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน และปัจจัยจากภายนอก คือการเปิด AEC ในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างดีที่ทำให้เม็ดเงินการลงทุนเกิดการเคลื่อนย้ายเข้ามายังภูมิภาคอาเซียนเป็นจำนวนมาก
สำหรับ ความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 16 มี.ค.นี้ซึ่งจะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจนจากเบื้องต้นที่กำหนดไว้แบบครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ นำร่องได้แก่ 1.เขตศก.พิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก 2.เขตศก.พิเศษมุกดาหาร 3.เขตศก.พิเศษจ.สระแก้ว และ 4.เขตศก.พิเศษจ.ตราด
ทั้งนี้ กนอ.ยังเตรียมออกมาตรการสนับสนุนโครงการจัดตั้งนิคมฯในพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้(North-South
Economic Corridor) ตามยุทธศาสตร์ประเทศในระยะที่ 2 โดยกนอ.จะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมฯตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค.- พ.ค. 2558 ในภาคเหนือ 7 จังหวัดประกอบด้วย จ.ตาก ลำปาง กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พะเยาและเชียงใหม่ และนิคมฯในพื้นที่เป้าหมายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี
กนอ.ตั้งเป้ายอดขายที่ดิน-ให้เช่าพื้นที่นิคมฯทั่วปท.ปีนี้ 4 พันไร่
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ระบุว่า ในปี 58 ตั้งเป้ายอดขายและให้เช่าพื้นที่ในนิคมทั่วประเทศ ประมาณ 4,000 ไร่ จากพื้นที่คงเหลือสำหรับขายและให้เช่า 14,333 ไร่ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 (ต.ค.57-ม.ค.58) มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 730 ไร่ จากนิคมฯร่วมดำเนินงาน แบ่งเป็น นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มอมตะ จำนวน 225 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มเหมราช จำนวน 142 ไร, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จ.สมุทรปราการ จำนวน 121 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล 1996 จำนวน 80 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมหนองแค จำนวน 74 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ จ.ปราจีนบุรี จำนวน 47 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จำนวน 37 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จำนวน 4 ไร่ ซึ่งเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมามียอดขายลดลง 85 ไร่
สำหรับ ยอดขายและให้เช่าพื้นที่ในปีงบประมาณ 57 (ต.ค.56-ก.ย.57) อยู่ที่ 3,541 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่ กนอ. ดำเนินงานเอง 11 นิคมฯ มียอดขายและให้เช้าพื้นที่ 98 ไร่ และนิคมฯ ร่วมดำเนินงานกับเอกชนที่เปิดดำเนินการแล้ว 29 นิคมฯ มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ 3,443 ไร่
ทั้งนี้ ในช่วงต้นปีงบประมาณ 58 กนอ.ได้มีการลงนามจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง รวมพื้นที่ 5,564 ไร่ มูลค่าการลงทุน 185,178 ล้านบาท ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเชียงของ จ.เชียงราย พื้นที่ประมาณ 462 ไร่, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิรฺ์นซีบอร์ด (โครงการ 4) จ.ระยอง พื้นที่ 2,142 ไร่ และ นิคมอุตสาหกรรมหนองคาย พื้นที่ 2,960 ไร่ คาดว่าทั้ง 3 นิคมจะเปิดดำเนินการราวปี 60 เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 58 จะพยายามชักชวนลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ เคมีภัณฑ์ให้เข้ามาลงทุนเพิ่ม โดยมีแผนจะส่งเสริมการตลาดในส่วนของนโยบาย Eco Car เฟส 2 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุน
ส่วน Rubber City พื้นที่ 755 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา ขณะนี้การออกแบบขั้นหลักการ (Conceptual Plan) เสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังทำพิมพ์เขียว คาดว่าการก่อสร้างจะเกิดขึ้นราวปลายปี 58 เปิดบริการ กลางปี 60 รองรับอุตสาหกรรมยางปลายน้ำ เช่น ถุงมือยาง ที่นอน-หมอนยางพารา ฝาย อ่างเก็บน้ำ ยางวิศวกรรม ต่างๆ ส่วนอีก 20% รองรับการผลิตยางคอมพาวป์ รวมทั้งในอนาคตอาจจะมีการดึงประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตถุงมือยาง และผู้ซื้อน้ำยางจากประเทศไทยเข้ามาร่วมจัดตั้งโรงงานในประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ กนอ.ยังเตรียม MOU กับคลัสเตอร์พลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กลุ่มพลาสติก สถาบันพลาสติก และ บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) ในวันที่ 10 มี.ค. ตั้งโรงงานแปรรูปบรรจุภัณฑ์ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยอยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ระหว่างแม่สอด หรือ สระแก้ว รวมทั้งกำลังเจรจาคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษให้เข้าไปลงทุนในพื้นที่เดียวกัน คาดว่าน่าลงนาม MOU ได้ประมาณ H2/58 โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับเครือ SCG รวมทั้งมีความสนใจจะเจรจาคลัสเตอร์กลุ่มอาหารเครื่องดื่มให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดนในอนาคตด้วย
นายวีรพงศ์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่คงเหลือสำหรับขายและให้เช่าราว 1 หมื่นไร่ คาดว่าจะขายได้หมดใน 3 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ไร่
นอกจากนี้ กนอ.มีแผนเพิ่มพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ และการเข้าสู่ประตูการค้าอาเซียน โดยจะประกาศเชิญชวนภาคเอกชนเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาคเนือก จำนวน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก ลำปาง กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก พะเยา และเชียงใหม่ และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครพนม มุกดาหาร สกลนคร และอุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกประกาศเชิญชวนได้ในเดือนมี.ค.นี้
อินโฟเควสท์