- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 20 February 2015 22:12
- Hits: 2251
ชงแผนกำจัดขยะอุตฯ ครม. สศอ.แรงงานไทยขาดแคลนสังคมผู้สูงอายุมาแล้ว
บ้านเมือง : กรอ.ชงแผนจำกัดขยะอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี งบประมาณ 429 ล้านบาท คาดเข้า ครม.ต้นมีนาคมนี้ ช่วยกำจัดขยะกว่า 90% ด้าน สศอ.คาด 3 ปีข้างหน้า 5 อุตสาหกรรมหลักต้องการแรงงานเข้าสู่ระบบรวม 3.268 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรอ.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กำจัดขยะอุตสาหกรรม มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบและรับทราบภายในต้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติก็จะเริ่มดำเนินงานได้ทันที โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะประกอบด้วย การควบคุมกำกับดูแลการสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการสร้างเครือข่ายสนับสนุน และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 429 ล้านบาท
โดยตั้งเป้านำขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย และขยะอุตสาหกรรมทั่วไปเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 แบ่งเป็นการกำจัดขยะอุตสาหกรรมอันตรายให้ได้ไม่ต่ำกว่า 3.35 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีขยะอุตสาหกรรม มีพิษเข้าสู่ระบบประมาณ 1.1 ล้านตัน/ปี หรือเพิ่มปีละ 4.7 แสนตัน และกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั่วไปให้ได้ 50 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีเข้าระบบประมาณ 12 ล้านตัน หรือเพิ่มปีละ 8 ล้านตัน
สำหรับ แผนการตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร ได้กำหนดพื้นที่ที่จะตั้งนิคมฯ คร่าวๆ 6 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นภาคละ 1 แห่ง ส่วนพื้นที่ใดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น ก็จะมีมากกว่า 1 แห่ง แต่จะอยู่ในพื้นที่ใดบ้างนั้น จะต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อน ซึ่งหากสามารถตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมได้ตามเป้าหมาย ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว ลดการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรม เนื่องจากจะมีการรีไซเคิลนำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น
ดร.พสุ กล่าวว่า ในปี 2558 ปีแห่งการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครบ 60 พรรษา กรอ.จึงพัฒนาโครงการความปลอดภัยในโรงงาน น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของปีนี้ คือ โรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) และใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน (Hot Oil) เนื่องจากปี 2549-2557 พบว่าเกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากการผลิต การใช้ก๊าซชีวภาพ และหม้อต้มน้ำมันร้อน ใน 3 ประเภท คือ การระเบิด การเกิดไฟไหม้ และการเสียชีวิตเนื่องจากพื้นที่อับอากาศ โครงการฯ นี้มีโรงงานร่วมกิจกรรมทั้งหมด 160 โรงงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องถึง 1,060 คน คาดว่าความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวจะนำมาซึ่ง "มาตรฐานหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย" ที่เป็นต้นแบบให้โรงงานอื่นๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้ก๊าซชีวภาพ 336 โรงงาน และโรงงานที่ใช้หม้อต้มน้ำมันร้อน 856 โรงงาน มีหม้อต้มน้ำมันร้อนทั้งหมด 1,000 เครื่อง
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากการประเมินโดยใช้ระบบ LEED-X โดยใช้ฐานข้อมูลในช่วงปี 2554-2555 ซึ่งมีความถูกต้องและแม่นยำถึงร้อยละ 80 พบว่าในช่วงปี 2558-2560 หรือ 3 ปีข้างหน้า หากเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 4 ภาคอุตสาหกรรมไทยใน 5 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุตสาหกรรม จะมีความต้องการแรงงานรวมกันมากถึง 3.268 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และอัตราว่างงานของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 0.6-0.7 เท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยเสริม
ระยะสั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพทักษะฝีมือแรงงานก่อนเข้าทำงาน พร้อมกันนี้ต้องสนับสนุนโรงงานและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในนโยบายส่งเสริม Talent Mobility ส่วนระยะกลางถึงระยะยาวต้องเพิ่มประสิทธิภาพหรือความสามารถของแรงงาน สนับสนุนให้มีการลงทุนในเครื่องจักร มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี อีกทั้งควรจัดทำยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน
สำหรับ ภาพรวมความต้องการแรงงาน 5 อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานถึง 3.268 ล้านคน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องการมากถึง 1,310,000 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ต้องการ 885,000 คน อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 470,000 คน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 430,000 คน และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ ต้องการ 173,000 คน
ทั้งนี้ ระบบ LEED-X เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และแรงงาน ที่มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งปีงบประมาณ 2558 สศอ.จะพัฒนาระบบให้มีความแม่นยำมากขึ้น โดยพัฒนาฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น