WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สถาบันอาหาร หนุนผู้ประกอบการขยายตลาดสินค้าฮาลาล เพิ่มส่วนแบ่งตลาด

   นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาลสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมในตลาดโลกนั้นมีมูลค่าสูงมาก ซึ่งนับว่าตลาดอาหารฮาลาลกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีมูลค่า 6,000,000 ถึง 8,000,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีแนวโน้มการเติบโตและการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรได้รับความสนใจจากผู้ผลิตอาหารเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การดำเนินการผลิตอาหารฮาลาล อย่างถูกต้องตามหลักบัญญัติศาสนาอิสลามเพื่อกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารฮาลาลไทยจะส่งผลต่อการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น

    "ที่สำคัญการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ซึ่งจะมีผลอย่างเป็นรูปธรรมในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จะทำให้มีผลประโยชน์ มีอำนาจต่อรองต่างๆกับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า-ส่งออกของชาติในอาเซียนจะเสรี ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมากและคาดไม่ถึง"

    ทั้งนี้ ข้อมูลจากสถาบันอาหารระบุว่า มุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ล้านคน อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุดประมาณ 1,365 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีมุสลิมอยู่ประมาณ 7 ล้านคน ประเมินว่าตลาดอาหารฮาลาลในอาเซียนมีมูลค่าราว 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเติบโตสูง โดยเฉพาะภาคการค้าปลีกผ่านทางโมเดิร์นเทรด

    นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สถาบันอาหารจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการอาหาร และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มผู้ผลิตอาหารฮาลาลทั่วประเทศว่าเป็นอาหารที่ผลิตถูกต้องตามหลักศาสนา มีกรรมวิธีการผลิตอาหารอย่างไรให้ประชาชนชาวมุสลิมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่เป็นกล่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นที่ยอมรับและมีความแตกต่างกับการผลิตอาหารปลอดภัยปกติที่ไม่ใช่อาหารฮาลาล ตรงจุดไหนบ้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคกลุ่มมุสลิมจริงๆ และเป็นการให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไปให้เข้าใจว่าอาหารฮาลาลไม่ใช่อาหารของชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารของชาวศาสนาอื่นด้วย

     ด้านนายวิรุตม์ ทรัพย์พจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอฟ ฮาลาล ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตอาหารตามหลักการอิสลาม ภายใต้แบรนด์ ไอบีเอฟ ทั้งไส้กรอก ลูกชิ้น อาหารบรรจุกระป๋อง เพื่อจำหน่ายในประเทศ 95% ส่งออก 5%

    ตลาดในประเทศส่วนใหญ่ จะจำหน่ายผ่านศูนย์กระจายสินค้า ร้านค้าในกรุงเทพฯและภาคใต้ ซึ่งกระจายสินค้าผ่านศูนย์กระจายสินค้าที่บริษัทไปตั้งอยู่ใน จ.ยะลา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 65%, จำหน่ายผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพอาทิ แม็กซ์แวลูและเดอะมอลล์ 20% และอีก 15% จำหน่ายให้ครัวสายการบินและโรงแรม เช่น การบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ และกลุ่มโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป เช่น โรงแรมดุสิตธานี โรงแรมเจ้าพระยาปริ้นเซส จุดแข็งของบริษัทคือ เจ้าของกิจการและพนักงานกว่าครึ่งเป็นชาวมุสลิม ซึ่งในอนาคตมีแผนจะขยายตลาดในส่วนนี้ให้มากขึ้น

   ขณะที่ตลาดส่งออก บริษัทก็มีแผนจะค่อยๆเพิ่มสัดส่วนการขายให้มากขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงช่องว่างทางการตลาดที่ยังมีอีกมากในตลาดโลกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศมุสลิม แต่คงจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

    สำหรับปี 2557 บริษัทตั้งเป้ายอดขาย 120 ล้านบาท และกำลังวางแผนขยายกำลังผลิต สร้างโรงเชือดและมีฟาร์มเป็นของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนมาติดต่อขอร่วมงานด้วยแต่บริษัทไม่สนใจ ส่วนปัญหาการเมืองและปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อยอดขายประมาณ 5% เนื่องจากการขนส่งสินค้าทำได้ไม่สะดวก และปัญหาการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางถือเป็นตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทย

    อนึ่ง ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แจงสถานการณ์การผลิตรวมทั้งการรับรองอาหารฮาลาลในประเทศไทย ในปี 2554 พบว่า มีสถานประกอบการในประเทศที่ขอรับการรับรองฮาลาล 2,188 ราย ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนประกอบการที่ขอรับการรับรองฮาลาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี หากจำแนกสถานประกอบการที่ขอรับการรับรองฮาลาลตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจะพบว่า สถานประกอบการที่ขอการรับรองส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเป็นหลักโดยมีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 90% (ผู้ผลิตอาหาร 72%, ร้านอาหาร 13%, โรงเชือดและชำแหละเนื้อสัตว์ 3% และผู้นำเข้าอาหาร 2% โดยประมาณ) ส่วนที่เหลืออื่นๆ อีกร้อยละ 10 เป็นผู้ประกอบการที่ผลิตและนำเข้าสินค้าอุปโภค

  ล่าสุด ในปี 2554 มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลสูงถึง 64,588 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แม้ว่าในแต่ละปีก็จะมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองฮาลาลมาก่อนหน้านี้ ขอยกเลิกการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มากนักอยู่ที่ประมาณ 3% ของสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองฮาลาลในแต่ละปี แต่หากคิดจากผลิตภัณฑ์ที่ขอยกเลิกจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5% ซึ่งสาเหตุหลักที่ผู้ประกอบการขอยกเลิกการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในฝั่งของผู้ผลิตที่ไม่ประสงค์ต่ออายุการรับรองฮาลาลหลังครบกำหนด รวมทั้งการแสดงเครื่องหมายฮาลาลที่เป็นเท็จ เช่น ติดเครื่องหมายรับรองฮาลาลเกินกว่าจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ขอ รับรอง ทำให้ฝ่ายกิจการฮาลาลซึ่งเป็นผู้ให้การรับรองฮาลาล จำเป็นต้องยกเลิกการใช้เครื่องหมายรับรองฯ ของผู้ประกอบการดังกล่าว นอกจากนี้ บางบริษัทมีการยกเลิกการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลเฉพาะสินค้าบางรายการเนื่องจากไม่การผลิตสินค้าดังกล่าวแล้ว เป็นต้น

    ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกอาหารไปยังประเทศมุสลิมมากขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มดังกล่าวที่ขยายตัวตามราคาน้ำมัน จากข้อมูลการส่งออกสินค้าอาหาร ไปยังกลุ่มองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation : OIC3 เป็นตัวแทนตลาดส่งออกอาหารฮาลาลไทย จะพบว่า ในช่วง 5 ปีหลังสุด การส่งออกอาหารฮาลาลไทยมีมูลค่าเฉลี่ย 5,688 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

   ตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทยกระจายอยู่ใน 3 กลุ่มประเทศหลักๆ ได้แก่ แอฟริกา 37.7% ตลาดอาหารฮาลาลไทยในแอฟริกา ได้แก่ ประเทศไนจีเรีย ไอวอรี่โคสต์ อียิปต์ และเซเนกัล, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน มีสัดส่วนส่งออก 33.6% ตลาดอาหารฮาลาลไทยในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และ ตะวันออกลาง มีสัดส่วนส่งออก 24.8% ตลาดอาหารฮาลาลไทยในตะวันออกลาง ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

   ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกอาหารไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมในสัดส่วนสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าในประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจ โดยราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมากในช่วงนั้น ได้ส่งผลทำให้ประเทศในกลุ่มมุสลิมโดยเฉพาะในตะวันออกกลางรวมทั้งแอฟริกาบางส่วนที่มีรายได้หลักจากการจำหน่ายน้ำมัน มีฐานะทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภคดังกล่าว

   สินค้าอาหารฮาลาลส่งออกหลักของไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 50% คือ ข้าว เนื่องจากประเทศมุสลิมส่วนใหญ่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก รองลงมาคือ น้ำตาลทราย ทูน่ากระป๋อง แป้งมันสำปะหลัง และผลไม้สด (ลำไยสด ทุเรียน เงาะ มังคุด) ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ถึง 5 ของมูลค่าส่งออกเฉลี่ยในปี 2551-2555 ตามลำดับ

   ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยขยายตัวดีโดยเฉพาะการส่งออกไก่ ที่ขยายตัวสูงกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ประเทศผู้นำเข้าเริ่มทยอยยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย ล่าสุดในปี 2555 การส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมมีปริมาณกว่า 20,600 ตัน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า

   ขณะที่การส่งออกไก่สุกแปรรูปก็มีแนวโน้มดีแม้จะมีปริมาณส่งออกเพียง 2,351 ตันในปีที่ผ่านมา ซึ่งตลาดส่งออกไก่สุกแปรรูปของไทยในประเทศมุสลิมที่โดดเด่นมีเพียงตลาดเดียวได้แก่ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณส่งออกไก่สุกแปรรูปที่ไทยส่งออกไปยังประเทศมุสลิมทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 8% ส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย

   ทั้งนี้ การส่งออกไก่รวมทั้งสินค้าอาหารอื่นๆ ในหลายกลุ่มสินค้า ไปยังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขยายตัวค่อนข้างมาก เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ถือเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าต่อไปยังประเทศในกลุ่ม GCC ที่บรรดาประเทศสมาชิกมีความตกลงการใช้มาตรฐานอาหารร่วมกัน ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการนำเข้าส่งออกรวมทั้งร่นระยะเวลาให้กับผู้ประกอบการได้มาก

 อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!