- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Wednesday, 11 February 2015 18:26
- Hits: 2212
ก.อุตฯมั่นมิตซูบิชิมาแน่-ถกบีโอไอ-สศอ.วางยุทธศาสตร์ดึงเงินลงทุน ปั้นไทยฐานผลิตรถไฟฟ้า
แนวหน้า : กระทรวงอุตสาหกรรม หวังปั้นไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่งขายทั่วโลก หลัง บิ๊กค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น อย่างมิตซูบิชิเข้าพบ และรับปากจะเลือกไทยเป็นฐานผลิตอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น รมว.อุตฯเผยเตรียมหารือ บีโอไอ สศอ.และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนดึงดูดนักลงทุน เชื่อเดินตามรอยรถกระบะได้ไม่ยาก
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังนายเทซึโระ ไอกาว่า ผู้บริหารระดับสูง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่นเข้าพบ ว่า ปัจจุบันมิตซูบิชิยังยืนยันตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากประเทศ ญี่ปุ่น โดยมีการผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ 76% หรือจำนวน 4 แสนคัน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไปทั่วโลก 24% และขายในประเทศไทย24% รวมทั้งเป็นบริษัทแรกที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้นได้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอให้มิตซูบิชิ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาลงทุนพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ต่อยอดจากการผลิตรถยนต์ประหยัด พลังงาน (อีโคคาร์) หากสนใจก็เสนอ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เพื่อให้ได้ลดหย่อนด้านภาษีต่างๆ เป็นต้น
“เบื้องต้นประเมินท่าทีความสนใจของมิตซูบิชิที่จะเข้ามาลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยก็มีแนวโน้มที่ดี แต่เนื่องจากไทยยังไม่มีแนวทางส่งเสริมชัดเจนเท่าที่ควรทางมิตซูบิชิจึงต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะรถยนต์ดังกล่าวมีราคาแพงกว่ารถยนต์ทั่วไป 1.5-2 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าปัจจุบันเรียกเก็บอยู่ที่ 10% เทียบกับอัตราภาษีรถอีโคคาร์ที่เรียกเก็บ 17% ถือว่าไม่แตกต่างกัน มากนัก ทำให้ไม่จูงใจให้เข้ามาลงทุนมากพอ”นายจักรมณฑ์กล่าว
นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ทั้งสิทธิประโยชน์การลงทุน มาตรการภาษี และเงื่อนไขอื่นๆ ที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบการมากพอจะเข้ามาลงทุนได้คุ้มค่าและเหมาะสม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยประสบความสำเร็จในการสร้างโปรดักส์แชมเปี้ยน ลำดับที่ 1 คือ รถกระบะ ขนาด 1 ตัน สามารถผลิตและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ลำดับที่ 2 คือ การผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ซึ่งขณะนี้การผลิตรถยนต์อีโคคาร์ระยะ (เฟส) ที่ 1 ที่มีปริมาณการผลิต 500,000 คัน เริ่มทยอยออกมาแล้ว ส่วนระยะที่ 2 จะออกเร็วๆ นี้ มีกำลังการผลิตรวมปีละประมาณ 1.58 ล้านคัน ดังนั้นคาดว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยน ลำดับที่ 3 ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
“ในการสร้างโปรดักส์ แชมเปี้ยนที่ผ่านมา ใช้ระยะเวลาในการวางยุทธศาสตร์เป็นระยะเวลานาน โดยในส่วนของรถกระบะใช้ระยะเวลาถึง 30 ปีกว่าจะเป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยน ส่วนโครงการอีโคคาร์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 ปี ดังนั้นคาดว่าในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะใช้เวลาเพียง 5 ปีถึงจะเป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยนลำดับที่สาม เนื่องจากได้มีการวางรากฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ดีมาตั้งแต่อดีต” นายจักรมณฑ์กล่าว