- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Tuesday, 03 February 2015 17:25
- Hits: 2277
ดันมาตรฐาน มอก.สู่ AEC อุตฯ สบช่องพัฒนาสินค้าดึงลงทุน
บ้านเมือง ; ก.อุตสาหกรรม เตรียมดันมาตรฐาน มอก. 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์รองรับ AEC พร้อมชงตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อ ช่วยลดต้นทุนการผลิต เป็นฮับในภูมิภาค ดันมาตรฐาน ISO37001 ต้านปัญหาคอรัปชั่นติดสินบน เหตุหลายประเทศจับตาในการแก้ปัญหา
ดันมาตรฐาน มอก.
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ความตกลงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจการค้า การลงทุนของอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประเทศสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องร่วมกันปรับมาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ประเทศสมาชิกมีศักยภาพ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานหลักด้านมาตรฐานของไทยและมีผู้แทนไทยเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานและคุณภาพของอาเซียน
ทั้งนี้ การเตรียมตัวรับเออีซี ประเทศสมาชิกได้มีการกำหนดเป้าหมายใน 10 กลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สมอ. ซึ่งต้องปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน โดยอ้างอิงมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ (ISO IEC) จำนวน 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย
1.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศสมาชิกตกลงว่ามี 120 มาตรฐาน เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับของไทย 31 รายการ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 22 มาตรฐาน อยู่ระหว่างการปรับมาตรฐานอีก 9 มาตรฐาน ส่วนที่เหลืออีก 90 มาตรฐานเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่ง สมอ.ได้ใช้มาตรฐานตาม IEC อยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการ เตรียมหน่วยตรวจสอบรับรอง และปรับระบบการรับรองให้สอดคล้องกับความตกลงดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ในอาเซียน
การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลดีในการลดอุปสรรคทางการค้า ไม่ต้องทดสอบซ้ำ เพราะมีการยอมรับร่วมในผลการทดสอบรับรอง และยังจะช่วยปกป้องสินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกที่ไม่มีการรับรองมาตรฐานได้
2.ยานยนต์และชิ้นส่วน มีผลิตภัณฑ์นำร่อง จำนวน 19 มาตรฐาน ดำเนินการปรับมาตรฐานแล้ว 16 มาตรฐาน โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือลดความซ้ำซ้อนในการตรวจสอบรับรอง มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมอาเซียนให้เป็นฐานการผลิตยานยนต์เดียวกัน
3.ผลิตภัณฑ์ยาง มีความตกลงร่วมกัน 46 มาตรฐาน ซึ่ง สมอ.อยู่ระหว่างการดำเนินการ น่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ นอกจากสนับสนุนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางของไทยแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ในอนาคตด้วย
4.ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง อยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงร่วมกัน จำนวน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ กระจกโฟลต และเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ซึ่ง สมอ. ได้เข้าร่วมเพื่อยอมรับผลการตรวจสอบรับรองซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างของ ไทย ที่มีความเข้มแข็ง ทั้งด้านตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่รับเหมาโครงการก่อสร้าง ที่สำคัญคือ การช่วยลดต้นทุน และง่ายต่อการออกแบบและก่อสร้าง หากสินค้าได้รับการรับรองแล้ว สามารถลดอุปสรรคที่แต่ละประเทศมีความแตกต่างของกฎหมายควบคุมการก่อสร้าง
5.ผลิตภัณฑ์ไม้ มีการปรับทั้งหมด 34 มาตรฐานตาม ISO ซึ่งเพิ่งได้ข้อสรุปเมื่อไม่นานมานี้ สมอ.จึงอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งผลที่ได้รับคือ การส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ โดยเฉพาะขนาดแผ่นไม้และเฟอร์นิเจอร์ ทำให้สามารถใช้วัตถุดิบทดแทนกันได้ โดยครอบคลุมการใช้ไม้จากป่าปลูกมาแปรรูป รวมทั้ง ไม้ยางพารา ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าไม้ยางพาราที่หมดอายุ หรือถูกโค่นลง ซึ่งไทยและมาเลเซียจะได้ประโยชน์เพราะเป็นฐานการผลิตไม้ยางพารา
นายจักรมณฑ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของผลศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยางล้อและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาง ภายใต้งบฯ โดยประมาณ 1,600 ล้านบาท มุ่งหวังที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบยางล้อฯ ของอาเซียน ในเฟสแรกจะดำเนินการในส่วนของศูนย์ทดสอบยางล้อทุกประเภท ตามมาตรฐาน UNECE R117 ภายใต้งบประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอ ครม.พิจารณา สำหรับสถานที่ตั้ง สมอ.กำลังประสานหาพื้นที่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
"ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวก ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการทดสอบยางล้อโดยไม่ต้องส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกยางล้อของผู้ประกอบการ รวมทั้งการออกแบบวิจัย พัฒนา นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางล้อ และส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ ทำให้อุตสาหกรรมยางทั้งระบบมีความมั่นคงและยั่งยืน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2559 โดยมีระยะเวลาผลตอบแทนการลงทุน 12 ปี หากเก็บค่าบริการทดสอบจากภาคเอกชน"
ทั่วโลกจับตาปัญหาคอรัปชั่น
ขณะที่นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจปัญหาคอรัปชั่น ประกอบกับข้อมูลจากธนาคารโลกที่ประเมินว่ามีการจ่ายเงินเพื่อการติดสินบนสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญฯ ในแต่ละปี หรือคิดเป็น 3% ของ GDP โลก และประมาณการว่ามีองค์กรธุรกิจจำนวน 50% มีการจ่ายเงินติดสินบน ซึ่งเป็นปัญหาที่ลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมให้แก่สังคม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ ซึ่งองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) อยู่ระหว่างการจัดทำ ISO 37001 Anti-bribery management systems (ฉบับร่าง) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการต่อต้านการติดสินบน ที่กำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ดีเพื่อต่อต้านคอรัปชั่นซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ในปี 2559
โดยตัวอย่างสาระสำคัญของมาตรฐานฉบับนี้ อาทิ องค์กรต้องมีนโยบายการต่อต้านการติดสินบนอย่างจริงจัง มีการสื่อสารให้แก่บุคลากรและสาธารณะรับทราบ มีการให้ความรู้ การฝึกอบรม และให้การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ที่จะต่อต้านการติดสินบนอย่างจริงจัง รวมถึงมีการวางแผนการประเมินความเสี่ยง การตรวจสอบประเมินภายใน และปรับปรุงเพื่อพัฒนา เป็นต้น
"ในฐานะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมี สมอ.เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ ISO หรือองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เห็นว่า ISO 37001 เป็นมาตรฐานที่จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรและประเทศไทย โดย สมอ.จะมีการเสนอข้อคิดเห็นในฐานะสมาชิก และติดตามนำเสนอความคืบหน้าเพื่อให้สังคมได้รับทราบ เพราะเป็นมาตรฐานที่ช่วยสนับสนุนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชน ที่รณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ" นางอรรชกา กล่าว