- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Friday, 30 January 2015 08:01
- Hits: 3094
สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI)ธ.ค.หดตัว 0.35% ส่วนทั้งปีติดลบ 4.6%
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI)เดือนธ.ค.57 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน หดตัวร้อยละ 0.35 แต่มีสัญญาณฟื้นตัว เนื่องจากดัชนีฯ ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า (พ.ย.) ที่หดตัวร้อยละ 3.68
ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนธ.ค.57 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.1 และภาพรวมปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.2 ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มภาคการผลิตที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น
สำหรับ MPI ไตรมาส 4/57 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากต้นปี จากการหดตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาส 1/57 หดตัวลดลงต่อเนื่องเหลือร้อยละ 2.4 ในไตรมาส 4/57 และภาพรวม MPI ปี 57 หดตัวร้อยละ 4.6
สำหรับภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.57 และคาดการณ์ปี 58 ในสาขาที่สำคัญ มีดังนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เดือนธ.ค.57 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการผลิตรถยนต์ 153,669 คัน ลดลงร้อยละ 3.28 สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 89,504 คัน ลดลงร้อยละ 21.43 และการส่งออกรถยนต์ จำนวน 89,146 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ1.35
ส่วนปี 58 คาดว่าการผลิตรถยนต์จะมีการขยายตัวร้อยละ 14.36 หรือมีปริมาณการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,150,000 คัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,150,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.94 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวมเดือนธ.ค.57 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.83 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ส่วน Semiconductor Monolithic IC และ Other IC ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวดีขึ้น ยกเว้นสายไฟฟ้าและเครื่องรับโทรทัศน์ปรับลดลง โดยในส่วนของเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน
แนวโน้มปี 58 คาดว่าการผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 -1 ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศ จะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยเดือนธ.ค.57 มีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงร้อยละ 1.96 การส่งออกลดลง ร้อยละ 23.72 ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.56 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายหนึ่งได้กลับมาผลิตหลังจากหยุดการผลิตไปหลายปี
สำหรับปี 58 คาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล็กในส่วนการผลิตจะทรงตัว 6.82- 6.89 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0-3 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ เดือนธ.ค.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.02 จากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนกลุ่มผ้าผืนมีการผลิตลดลง ร้อยละ 3.21 ในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.72 ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปีตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศและการบริโภคภายในที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ เช่น การให้ข้าราชการทั่วประเทศแต่งเครื่องแบบข้าราชการ การรณรงค์ให้ประชาชนองค์กรต่างๆ ใส่เสื้อสีเหลืองในเดือนธันวาคม เพื่อถวายเป็นราชกุศล เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มปี 58 คาดว่า การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ ทั้งภาคการผลิตและการส่งออก โดยในกลุ่มสิ่งทอจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาครัฐได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศในกลุ่ม CLMV เพื่อใช้ประโยชน์ด้านแรงงาน ค่าจ้างที่ต่ำกว่า และสิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) จากตลาดส่งออกหลัก เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ด้านอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอุตสาหกรรมอาหารในเดือนธ.ค.57 ภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 2.5 เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์จากผักผลไม้และน้ำตาลที่ลดลง เป็นผลจากวัตถุดิบที่ออกสู่ตลาดลดลง และภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัว ส่วนการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เนื่องจากได้รับผลดีจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา
ส่วนแนวโน้มปี 58 คาดว่า การผลิตในภาพรวมจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5.0 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2.5-2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักทยอยฟื้นตัวขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย