- Details
- Category: อุตสาหกรรม
- Published: Monday, 26 January 2015 23:01
- Hits: 2482
รัฐ-เอกชน ลุยนิคมฯ กำจัดขยะ ไออาร์พีซี รับลูกพัฒนาอุตฯ เชิงนิเวศ
บ้านเมือง : ปัจจุบันปัญหาทางด้านกากอุตสาหกรรมถือว่าเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกหลายยุคหลายสมัยในแต่ละรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ต้องการที่จะแก้ปัญหาให้โดยเร็ว ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการถือว่าเป็นนโยบายหลักสำคัญของกระทรวง ในการแก้ปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดขยะอุตสาหกรรม และการรีไซเคิล และผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ซึ่งก็เป็นภารกิจสำคัญ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและจำกัดขยะอย่างครบวงจรต่อไป
พัฒนาเมืองอุตฯ เชิงนิเวศ
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าของการตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมและการรีไซเคิล เมื่อเร็วๆ นี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ศึกษาดูงานการกำจัดขยะ และการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งยังได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) กับนายเคนจิ คิตาฮาจิ นายกเทศมนตรีเมืองคิตะคิวชู ในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระหว่างเมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น กับกระทรวงอุตสาหกรรม และเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง ในการถ่ายทอดความรู้ในการในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และเทคโนโลยีในการกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร ให้กับกรมโรงงานฯ และเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการจัดตั้งนิคมกำจัดขยะอุตสาหกรรมครบวงจร
ทั้งนี้ ไออาร์พีซี มีความพร้อมที่จะตอบสนองนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการตั้งนิคมอุตสาหกรรมรีไซเคิลครบวงจร โดย ไออาร์พีซี มีพื้นที่กว่า 2 พันไร่ ในบริเวณ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่พร้อมในการรองรับโครงการดังกล่าว สามารถรองรับโรงงานรีไซเคิลได้หลายสิบโรงงาน ส่วนโครงการ นิคมฯ กำจัดขยะอุตสาหกรรมนั้น มองว่าควรจะอยู่ในพื้นที่ของทหารที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการ และป้องกันผลกระทบจากชุมชนได้ดีกว่า
"จากการลงพื้นที่ศึกษางานการกำจัดขยะอุตสาหกรรมของเมืองคิตะคิวชู พบว่ามีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่เหลือกากอุตสาหกรรมออกนอกพื้นที่โรงงานเลย ซึ่งไออาร์พีซีจะศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของเมืองคิตะคิวชูในเรื่องของความคุ้มค่าต่อการลงทุน และหากพบว่าโครงการมีความเป็นไปได้ก็จะลงมือสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับนิคมฯ รีไซเคิลต่อไป" นายสุกฤตย์ กล่าว
สำหรับ อุตสาหกรรมรีไซเคิลของญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในเรื่องของการกำหนดให้ผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของขยะเป็นผู้จ่ายค่ากำจัดขยะ ในขณะที่ไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องนี้ แต่ก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนแรงงาน และการก่อสร้างโรงงานที่ต่ำกว่า ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่าบนพื้นฐานของนโยบายรัฐบาลไทยจะสามารถคุ้มทุนในการสร้างนิคมฯ รีไซเคิลหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ของปี 2558 : หวังญี่ปุ่นสร้างต้นแบบเชิงนิเวศ
คิตะคิวชูร่วมลงนาม
ขณะที่นายเคนจิ คิตาฮาจิ นายกเทศมนตรีเมืองคิตะคิวชู กล่าวว่า หลังจากลงนามเอ็มโอยูนี้แล้ว จะตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วยตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากเมืองคิตะคิวชู กรมโรงงานอุตสาหกรรมของไทย และไออาร์พีซี ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการชุดนี้จะตั้งได้ภายในเดือน มี.ค.58 ซึ่งหลังจากตั้งคณะกรรมการแล้ว จะลงพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี เพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางปรับปรุงต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยของเสียให้เป็นศูนย์ รวมทั้งจะนำเสนอเทคโนโลยีและให้ความรู้กับบุคลากรไทย
"จากจุดเริ่มของการลงนามเอ็มโอยูนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นแนวทางทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของเมืองคิตะคิวชูกับไทยต่อไป ในการร่วมพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอีโคทาวไปทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นแผนธุรกิจที่สำคัญของเมืองคิตะคิวชูเช่นกัน" นายเคนจิ กล่าว
'ไออาร์พีซี'ตั้งนิคมฯ รีไซเคิล
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า เมืองคิตะคิวชูเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาจากเมืองอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหามลพิษอย่างรุนแรง มีมลพิษสูงทั้งในอากาศและน้ำทะเล จนอ่าวโดไคได้ชื่อว่าเป็นทะเลแห่งความตาย แต่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขเป็นขั้นเป็นตอนอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งก้าวไปสู่เมืองอีโคทาวน์ โดยในปัจจุบันเมืองคิตะคิวชูเป็นเมืองที่มีการกำจัดของเสีย และวัสดุเหลือใช้อย่างครบวงจร ไปสู่การมีเป้าหมายการมีของเสียเป็นศูนย์ จึงมีโรงงานรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทเป็นต้นแบบเมืองอีโคทาวอย่างแท้จริง
โดยความร่วมมือระหว่างเมืองคิตะคิวชูกับเขตประกอบการอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยองนี้ จะสร้างความร่วมมือด้านวิชาการที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในไทย ที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศทั่วประเทศ โดยกรมโรงงานจะเป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการหมุนเวียนทรัพยากรและพลังงานในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
"การกำจัดขยะของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ 79% จะเป็นการเผามีเตาเผาขนาดใหญ่กว่า 62 แห่ง ที่เหลือเป็นการรีไซเคิล และการฝัง โดยต้นทุนในการสร้างโรงเผาขยะของญี่ปุ่นจะอยู่ที่ 9 ล้านบาท/ตัน ดังนั้นหากสร้างโรงเผาขยะกำลังการกำจัดขยะให้ได้ 700 ตัน/วัน ก็จะมีมูลค่าประมาณโรงละ 6.3 พันล้านบาท ซึ่งหากก่อสร้างโรงเผาในไทยน่าจะมีต้นทุนการก่อสร้างต่ำกว่านี้ เพราะมีค่าแรง และวัสดุก่อสร้างที่ต่ำกว่า" นายพสุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รายได้จากการเผาขยะของญี่ปุ่นต่อโรงงานเผาขยะ 700 ตัน/วัน จะมีรายรับประมาณ 1,440 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจะมีรายได้ที่เกิดจากการขายวัสดุรีไซเคิล การขายไฟฟ้า และเงินช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งต้นทุนการกำจัดด้วยการเผามีมูลค่าสูงมาก ดังนั้นเพียงรายได้จากการขายวัสดุรีไซเคิลและไฟฟ้าจึงไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากภาครัฐเข้ามาช่วย ซึ่งหากจะนำระบบนี้เข้ามาใช้ในไทย ภาครัฐจะต้องปรับกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออุดหนุนให้โรงงานเผาขยะสามารถดำเนินกิจการไปได้ ทั้งนี้แม้ว่าต้นทุนการเผาและการไซเคิลจะแพง แต่ก็เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด