WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ชู 6 ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตฯปีหน้า จักรมณฑ์ยุตั้งนิคม SME3 จว.

     แนวหน้า : ชู 6 ยุทธศาสตร์พัฒนาอุตฯปีหน้า จักรมณฑ์ยุตั้งนิคม SME 3 จว. หนุนเขตศก.พิเศษรับเปิดAEC

     นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมวางกรอบงบประมาณปี 2559 ที่จะเน้นการดำเนินงานให้สอดคล้องนโยบายหลักของรัฐบาล โดยคาดว่าจะมีตัวเลขสูงกว่างบประมาณปี 2558 ที่มีจำนวน 5,857 ล้านบาท เพียงเล็กน้อย

     โดยในแผนการทำงานในปีงบประมาณ 2559 จะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ 1.ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ให้ความสำคัญมาโดยตลอด แต่ในปี 2559 จะเน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น กำหนดเป้าหมายรายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร จะผลักดันโครงการไทยแลนด์ฟู้ดวัลเล่ย์อย่างต่อเนื่อง หลังจากได้ดำเนินงานมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเน้นขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งจะผลักดันนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและนิคมอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีในภาคใต้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

    ในสัปดาห์นี้ จะเดินทางไปยัง จ.นราธิวาส เพื่อร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการนำร่องตั้งนิคมอุตสาหกรรมสำหรับเอสเอ็มอีให้เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นายจักรมณฑ์ กล่าว

    ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยจะเน้นในเรื่องการกำจัดขยะอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้มีความเชื่อมโยงกัน

    ยุทธศาสตร์ที่ 4 มาตรฐานสินค้า จะเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น โดยจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน และเร่งออกมาตรฐานสินค้าชนิดใหม่ๆให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมทั้งยังเป็นการป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างชาติเข้ามาแย่งตลาดสินค้าไทย

    ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลประโยชน์ที่ภาครัฐและชุมชนจะได้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเน้นแต่เพียงการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร แต่ในอนาคตจะต้องดูความคุ้มค่าและผลตอบแทนต่อรัฐ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินแร่ของไทย เช่น แร่โปแตซนำไปผลิตปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และต่อยอดในอุตสาหกรรมต่างๆ และแร่ควอทซ์ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตโซลาร์เซลล์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องให้ความสะดวกสบายแก่ผู้ประกอบการ

   นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อ ที่กล่าวมานี้ ใช้งบประมาณไม่มาก โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 4-6 แทบไม่ต้องใช้เงินเลย เพราะเป็นการปรับปรุงระบบการทำงานภายในกระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ปัญหาด้านใดแก้ไขไม่ยากต้องเร่งดำเนินการทันที ปัญหาใดติดขัดเรื่องกฎหมายก็อาจจะต้องใช้เวลา ส่วนในยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เออีซี หรือเอสเอ็มอี อาจจะต้องใช้งบในการสนับสนุน และการสร้างห้องแล็บต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนา และเพิ่มรายได้กับประเทศอีกมาก 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!