WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อุตฯ เหล็กอาเซียนเผชิญวิกฤติเหล็กนำเข้าทุ่มตลาด

     บ้านเมือง : สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน(AISC) ซึ่งเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมเหล็กใหญ่สุดจากทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน ประชุมด่วนถกปัญหาอาเซียนถูกเหล็กนำเข้าทุ่มตลาดรุนแรงต่อเนื่อง ร้องอาเซียนและรัฐบาลแต่ละประเทศเร่งใช้มาตรการปกป้อง ก่อนอุตสาหกรรมพื้นฐานของชาติล่มสลาย

    หลังจากสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนเคยมีมติในการประชุมสามัญ เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ณ สิงคโปร์ เรียกร้องอาเซียนและรัฐบาลแต่ละประเทศแก้ปัญหาเหล็กทุ่มตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน และสมาพันธ์ฯ ได้ส่งหนังสือเป็นทางการถึงเลขาธิการอาเซียนให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งให้รัฐบาลแต่ละประเทศเร่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวยังมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น ทางสมาพันธ์ AISC จึงต้องเรียกประชุมวิสามัญเป็นการด่วน เมื่อวันที่ 17 ม.ค.58 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

     สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนแถลงจุดยืนว่า ยินดีเปิดรับต่อการค้าเสรีแต่ต้องเป็นการค้าที่เป็นธรรมด้วย จึงขอให้ภาครัฐต้องไม่ลังเลที่จะตอบโต้การค้าสินค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มตลาด การหลบเลี่ยงอากรด้วยเล่ห์กลต่างๆ โดยมีมติร้องเรียนอาเซียนอีกครั้งให้ถกแก้ปัญหาในเวทีการค้าระดับภูมิภาค และเรียกร้องให้ภาครัฐแต่ละประเทศเดินหน้าใช้มาตรการที่ได้ผลยิ่งขึ้น ได้แก่ การตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) การตอบโต้การอุดหนุนตลาด (Countervailing Duty) หรือการตอบโต้หากมีการเลี่ยงอากรในลักษณะต่างๆ (Circumvention) เป็นต้น

    นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้า ของสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน ซึ่งเข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย เปิดเผยว่า ทุกประเทศในอาเซียนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติจากการถูกทุ่มตลาดสินค้าเหล็กอย่างรุนแรง แม้กระทั่งอินโดนีเซีย และมาเลเซียที่มีอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร ตั้งแต่การผลิตต้นน้ำ หรือโรงถลุงเหล็กภายในประเทศด้วย ก็ยังไม่สามารถสู้กับการทุ่มค้าสินค้าเหล็กอย่างไม่เป็นธรรมมายังประเทศของตนได้

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าเหล็ก เฉพาะจากจีนประเทศเดียวมายังอาเซียนในปี 2557 พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อย่างมาก ได้แก่ เหล็กเส้นเพิ่มขึ้นถึง 97% เป็นปริมาณกว่า 5 ล้านตัน, เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเพิ่มขึ้น 52% เป็นกว่า 3 ล้านตัน, เหล็กลวดเพิ่มขึ้น 17% เป็นปริมาณกว่า 4 ล้านตัน, ท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น 14% เป็น กว่า 1 ล้านตัน เป็นต้น

    หลังจากการร้องเรียนของสมาพันธ์ AISC และสถาบัน SEISAI ตลอดจนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตั้งแต่ปลายปี 2557 รัฐบาลในอาเซียนได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เช่น มาเลเซีย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (MIDA) ได้ดำเนินการหลายมาตรการ ได้แก่ ไต่สวนและกำลังจะประกาศใช้มาตรการปกป้องการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน เกาหลีใต้ ภายในต้นปีนี้, การพิจารณาปรับอัตราอากรนำเข้าสินค้าเหล็กทรงยาวจาก 0% เป็น 5%, การแก้ไขกฎหมาย และกำหนดมาตรฐานย่อยเพื่อป้องการการหลบเลี่ยงอากรนำเข้าหรืออากรทุ่มตลาด, การส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น ในขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งสืบพบการสำแดงพิกัดศุลกากรในการนำเข้าสินค้าเหล็กนับล้านตัน ผิดไปจากพิกัดของสินค้าดังกล่าวในการส่งออกจากประเทศแหล่งกำเนิด ซึ่งกรมศุลกากรของสิงคโปร์ กำลังสอบสวนว่าเป็นความผิดฐานสำแดงพิกัดเท็จหรือไม่ และได้กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าเหล็กที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยต้องแสดงหลักฐาน พิกัดสินค้าส่งออกจากประเทศต้นกำเนิดมาเป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าด้วย

   การตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐแต่ละประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงเจตนา ที่จะขจัดปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นพื้นฐานของการส่งเสริมการค้าเสรีที่แท้จริง จึงเชื่อว่าภาครัฐของไทยคงจะมีการดำเนินการที่เหมาะสมทันการณ์ยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าเหล็กปริมาณมากสุดในอาเซียนถึงกว่า 12 ล้านตันต่อปี ในขณะอินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการนำเข้าปีละ 8 และ 6 ล้านตันตามลำดับ

   น.ส.ชลธิชา จงรุ่งกีรติ เลขาธิการสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่ามาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (AD) เป็นมาตรการที่องค์กรการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตนเองได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสินค้าดังกล่าวมีการทุ่มราคา และก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน ซึ่งแม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่เน้นการค้าเสรี คือ สหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด รวมกันแล้ว กว่า 300 มาตรการ และสหภาพยุโรปก็ใช้กว่า 300 มาตรการเช่นเดียวกัน ในขณะที่ประเทศไทย เพิ่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเพียง 40 กว่ามาตรการและใช้ระยะเวลาไต่สวนนาน อีกทั้ง เมื่อพบการเลี่ยงอากรทุ่มตลาดและอากรนำเข้าในลักษณะต่างๆเช่น การเปลี่ยนพิกัดการนำเข้า ซึ่งสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติสูญเสียอากรที่ควรเรียกเก็บได้นับหมื่นล้านบาท แต่ภาครัฐกลับไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ เนื่องจากปัญหาในการควบคุมและสอบสวน และกฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ไม่สามารถบังคับใช้ตอบโต้กรณีการอุดหนุนตลาด (Countervailing) และกรณีหลบเลี่ยง (Circumvention) อากรทุ่มตลาดได้แต่อย่างใด จึงขอสนับสนุนให้ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยด่วนด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!