WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

INDUSจกรมณฑรมว.อุตสาหกรรม ระบุ หากราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่อง อาจพิจารณาปรับโครงสร้างต้นทุนอุตสาหกรรมใหม่

     นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลังราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกันยายน 2557 จนกระทั่งลดลงเหลือ 43.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักเกิดจากภาวะปริมาณน้ำมันที่ผลิตออกมาจากกลุ่มโอเปคมากเกินความต้องการและยังคงกำลังการผลิตเดิม ซึ่งมีปริมาณการผลิต 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตทั้งโลก เพื่อกดดันราคาให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป

     ทั้งนี้ เบื้องต้นหากพิจารณาราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรกปี 2558 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยอยู่ที่ระดับราคา 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และครึ่งหลังปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นมา แต่ยังคงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยอยู่ที่ระดับราคา 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2558 อยู่ในระดับกลาง คือ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอุตสาหกรรมมีค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 จากกรณีฐาน ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10 และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตปรับลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้นและส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ประกอบกับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.20 นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าปรับลดลง

     นายจักรมณฑ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลทางบวกจากการที่ราคาน้ำมันลดลงและส่งผลต่อไปยังราคาวัตถุดิบหลาย ประเภทลดลงตามไปด้วย ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐาน และเคมีภัณฑ์อื่น ๆ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานและเคมีภัณฑ์อื่น ๆ และอุตสาหกรรมพลาสติก มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมค่อนข้างสูง ถ้าหากราคาน้ำมันดิบปรับลดลง ราคาผลิตภัณฑ์ซึ่งได้จากการกลั่นปิโตรเลียมย่อมลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ผลิตปรับระดับการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ

   ส่วนอุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นผลที่เชื่อมโยงจากราคาสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์ เนื่องจากโครงสร้างการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษนั้นมีสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ในสาขาเคมีภัณฑ์ เป็นวัตถุดิบค่อนข้างสูง และอุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลจากการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเป็นกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการบริโภคสูงที่สุด เมื่อประชาชนในประเทศมีรายจ่ายในส่วนของราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง ส่วนที่เหลือจึงมาใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ มากขึ้น และกลุ่มสินค้าอันดับต้น ๆ คือ อาหารและเครื่องดื่ม

    "กระทรวงอุตสาหกรรมจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกต่อไป 5-6 เดือนข้างหน้าว่าจะยังคงลดลงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2558 หรือไม่ หากระดับราคาน้ำมันยังคงต่ำก็จะพิจารณาถึงโครงสร้างต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมอีกครั้ง" นายจักรมณฑ์ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!